บ้านหมื่นมณีมโนปการ
บ้านหมื่นมณีมโนปการ
ประกาศนียบัตรอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์
เคหสถานและบ้านเรือนเอกชน
ที่ตั้ง ตำบลบ้านแก่ง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ สร้างโดยช่างชาวจีนชื่อ กิต และภรรยาชื่อ ทิม
ผู้ครอบครอง ทายาทของเจ้าของเรือน โดยมีกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนของลูกทั้ง 6 คน เป็นผู้ดูแล ประกอบด้วย
1. นายอุทร กมลงาม
2. นายสล้าง น้อยมณี
3. นางรัชนีวรรณ คล้ำชื่น
4. นางอนงค์ สมบูรณ์ยิ่ง
5. นางวัลภา พรกฤษฎา
6. นางสาววริยา ศิริวัฒน์
ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2482
ปีที่ได้รับรางวัล พ.ศ. 2561
ประวัติเพิ่มเติม
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ
“มีการดูแลรักษาสภาพอาคารได้ดี ควรได้รับการซ่อมแซมในส่วนที่ชำรุด ส่วนต่อเติมควรใช้วัสดุและรูปแบบที่ดูกลมกลืนและส่งเสริมคุณค่าของอาคารเดิม”
รองอำมาตย์ตรีหมื่นมณีมโนปการ (ตาด น้อยมณี) ชาวอำเภอพิชัย มาแต่งงานกับนางตะขาบ ชาวบ้านบ้านแก่ง และเริ่มสร้างบ้านหลังนี้เมื่อพุทธศักราช 2479 โดยช่างชาวจีนชื่อ กิต และภรรยาชื่อ ทิม ทำกันเพียง 2 คน ใช้ไม้สักทองทั้งหลัง ซึ่งเป็นไม้ในที่ดินของรองอำมาตย์ตรีหมื่นมณีมโนปการเอง การก่อสร้างใช้เวลา 4 ปี จึงแล้วเสร็จ เนื่องจากขนาดของตัวเรือนที่สูงใหญ่และกว้างยาวเกินสัดส่วนของเรือนพักอาศัยทั่วไป เพราะท่านนำแบบมาจากที่ว่าการอำเภอตรอนในสมัยนั้น ประกอบกับต้องการสร้างหลังใหญ่เพราะมีลูกหลานมาก จะได้นอนกันได้สบาย ชาวบ้านในยุคนั้นจึงเรียกว่า “บ้านใหญ่” ต่อมาลูกชายคนโตชื่อ บรรลือ ได้รับราชการจนได้เป็นนายอำเภอ ประจำอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ และได้มาอยู่ดูแลบ้านหลังเกษียณอายุราชการ ชาวบ้านจึงเรียกบ้านหลังนี้ว่า “บ้านนายอำเภอบรรลือ” จนทุกวันนี้
บ้านหมื่นมณีมโนปการ เป็นอาคารพักอาศัยขนาดใหญ่ ยกพื้นสูงใต้ถุนโล่ง ตัวเรือนทำด้วยไม้สักทองทั้งหลัง หลังคาปั้นหยามุงสังกะสี มีมุขหน้าทำเป็นจั่ว มีเครื่องไม้ประดับยอดจั่วและปั้นลมแบบเรือนขนมปังขิงเสารับเรือนเป็นเสาปูนหล่อในที่ มีการลบมุมและปั้นบัวหัวเสา ฝาไม้เป็นแบบตีแนวนอนซ้อนเกล็ด บางส่วนของผนังภายในทำเป็นบานเฟี้ยมเต็มช่วงเสาให้เปิดโล่งได้ ลูกฟักบานเฟี้ยมเป็นไม้ทึบ ตอนบนทำเป็นลายบานเกล็ดไม้หลอก ไม่มีช่องระบายลมจริง ยอดฝาทำช่องระบายลมเป็นซี่ระแนงโปร่ง ทั้งฝาภายนอกและภายใน
ปัจจุบัน บ้านหมื่นมณีมโนปการ ไม่มีผู้พักอาศัย แต่ทายาทได้บำรุงรักษาไว้อย่างดีด้วยความภาคภูมิใจ ไม้ไม่มีผุหรือร่องรอยแมลงกัดกินเนื้อไม้ หลังคาสังกะสียังไม่ได้เปลี่ยนได้ซ่อม แต่ก็ไม่มีการรั่วซึม พื้นที่ภายในจัดเป็นนิทรรศการเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นของบ้านและตระกูลน้อยมณี โดยเปิดให้สาธารณชนเข้าชมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีส่วนกระตุ้นให้สังคมได้เห็นค่าของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นให้คงอยู่สืบไป