ชุมชนตลาดใหญ่ เมืองตะกั่วป่า
ชุมชนตลาดใหญ่ เมืองตะกั่วป่า
ประกาศนียบัตรอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์
ประเภทชุมชน
ที่ตั้ง ถนนนครนอก ถนนนครนครใน ถนนปัตตานี ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
ผู้ครอบครอง ชุมชนตลาดใหญ่ และชุมชนเสนานุช อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
ปีที่ได้รับรางวัล พ.ศ. 2561
ประวัติเพิ่มเติม
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ
“ควรสนับสนุนให้มีมีกิจกรรมและกระบวนการของชุมชนที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในเมืองเก่าตะกั่วป่าต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม”
เมืองตะกั่วป่าหรือเมืองตะโกลา เดิมอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเมืองเอกราชของประเทศศรีวิชัย ต่อมาเมื่อประมาณพุทธศักราช 1832 ชนชาติไทยได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในแคว้น สุวรรณภูมิ และมีอำนาจมากขึ้นจนตีได้เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองตะกั่วป่า หลังจากนั้นเมื่อพุทธศักราช 2437 ได้แบ่งการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ออกเป็นมณฑลและจังหวัด เมืองตะกั่วป่าจึงมีฐานะเป็นจังหวัดขึ้นกับ มณฑลภูเก็ต ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เมืองตะกั่วป่าจึงถูกลดลำดับความสำคัญลง จากจังหวัดตะกั่วป่าเป็นอำเภอตะกั่วป่าขึ้นกับจังหวัดพังงาเมื่อพุทธศักราช 2475 โดยศูนย์กลางการปกครองได้ย้ายไปอยู่ที่อำเภอเมือง หลังจากนั้นในวันที่ 11 มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐ พุทธศักราช 2480 มีการจัดตั้งเทศบาลเมืองตะกั่วป่าครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลตลาดเหนือ ตำบลตลาดใต้ และตำบลย่านยาว
เมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ถูกยกให้เป็นเมืองหลวงของการทำเหมืองแร่ดีบุกของประเทศไทยในช่วงพุทธศักราช 2500 ปัจจุบันแร่ดีบุกลดน้อยลง ประกอบกับย่านเมืองเก่าประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ย่านเมืองเก่าตะกั่วป่าซบเซา ลูกหลานไปเรียนและทำงานในเมืองใหญ่ ผู้ที่อาศัยในชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ประกอบอาชีพค้าขายในพื้นที่และเกษตรกรรมในพื้นที่ข้างเคียง อย่างไรก็ตาม พบว่าย่านเมืองเก่าตะกั่วป่ายังสามารถรักษามรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมเอาไว้ได้ ดังนี้
1. ความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา ติดแม่น้ำตะกั่วป่าที่เชื่อมต่อกับทะเลอันดามัน 2. ความหลากหลายของสถาปัตยกรรม ประกอบด้วยเรือนแถวค้าขาย โรงภาพยนตร์ บริษัทเหมืองแร่ ร้านทอง โรงแรม กำแพงเมืองเก่า จวนผู้ว่า ศาลเจ้าพ่อกวนอู บ้านขุนอินทร์ และโรงเรียนเต้าหมิง (โรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรก) สำหรับเรือนแถวค้าขายแบ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมได้ 3 รูปแบบ คือ 1) เรือนแถวค้าขายรูปแบบจีนดั้งเดิมตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 บริเวณถนนอุดมธารา 2) เรือนแถวรูปแบบจีนผสมตะวันตกบริเวณถนนศรีตะกั่วป่าซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจชุมชน เป็นรูปแบบที่นิยมแพร่หลายในเมืองท่าบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ในสมัยนั้น 3) เรือนแถวประยุกต์ที่มีลักษณะเฉพาะที่พัฒนารูปแบบทางสถาปัตยกรรม เช่น ทางเดินหน้าอาคารที่กว้างขึ้น(ประมาณ 3 เมตร โดยทั่วไป 1.5 เมตร) ช่องหน้าต่างและลวดลายประดับที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนนิยามได้ว่า“เรือนแถวเมืองตะกั่วป่า” 3. อดีตความรุ่งเรืองของเหมืองแร่ ยังมีร่องรอยของเหมืองโบราณ โรงถลุงแร่ และเครื่องจักรจำนวนมาก 4. ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นเมืองที่มีลักษณะพหุวัฒนธรรม ประกอบด้วยคนพื้นเมือง คนจีนลูกผสมที่เรียกว่า “บาบ๋า” ที่มีความโดดเด่นที่ถ่ายทอดผ่านทางเครื่องแต่งกาย อาหาร ภาษาพูด และประเพณีต่าง ๆ ที่เด่นชัด คือ ประเพณีถือศีลกินผัก และการแห่พระที่สืบทอดมายาวนานกว่า 150 ปี
จากความหลากหลายของมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของย่านเมืองเก่าตะกั่วป่า ทำให้ในพุทธศักราช 2558 สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมได้ประกาศเขตย่านเมืองเก่าตะกั่วป่า ครอบคลุมพื้นที่ 0.33 ตารางกิโลเมตร ชุมชนตลาดใหญ่ และชุมชนเสนานุช และมีแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน นักวิชาการ และหน่วยงานท้องถิ่น โดยมีจุดมุงหมายเพื่อทำให้ย่านเมืองเก่าตะกั่วป่ากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและการท่องเที่ยว รวมถึงการทำให้ลูกหลานชาวตะกั่วป่ากลับมาพัฒนาบ้านเกิด