อาคารพาณิชย์ (จี่อันตึ้ง – แสงฟ้า – มีจงมี)

อาคารพาณิชย์ (จี่อันตึ้ง – แสงฟ้า – มีจงมี)

ประกาศนียบัตรอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

อาคารพาณิชย์

ที่ตั้ง เลขที่ 89-105 ถนนจอมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จ.นครราชสีมา

สถาปนิก/ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ

สถาปนิกผู้ออกแบบอนุรักษ์/ปรับปรุง : รองศาสตราจารย์ ดร. สมพล ดำรงเสถียร

ผู้ครอบครอง

1. นายบัญชา รัตนวิภาพงศ์ ร้านจี่อันตึ้ง

2. นายบุญลิ้ม ดำรงเสถียร ร้านแสงฟ้านาฬิกา

3. นายประเสริฐ อยู่ยืน ร้านมีจงมี

ปีที่สร้าง สันนิษฐานว่าสร้างระหว่างพุทธศักราช2453 – 2476

ปีที่ได้รับรางวัล  พ.ศ. 2561

ประวัติเพิ่มเติม

ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

“มีส่วนต่อเติมลักษณะเพิงบริเวณดาดฟ้า ซึ่งไม่กลมกลืนและทำให้ลดทอนคุณค่าของรูปแบบสถาปัตยกรรม และควรมีการอนุรักษ์ภายในอาคารเพิ่มเติม”

อาคารพาณิชย์ (จี่อันตึ้ง – แสงฟ้า – มีจงมี) ไม่ปรากฏปีที่สร้าง แต่จากเอกสารประวัติศาสตร์สำคัญของจังหวัดนครราชสีมาพบภาพอาคารในภาพถ่ายขบวนทหาร ทำขวัญเมือง ขณะเดินขบวนผ่านประตูชุมพล เข้าในตัวเมืองนครราชสีมาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2476 (ภายหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชสิ้นสุดลง และทำให้เกิดการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีขึ้นในเวลาต่อมา โดยมีพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 16 มกราคม พุทธศักราช 2477) และจากคำสัมภาษณ์ของเจ้าของอาคารและทายาท สันนิษฐานว่าอาคารสร้างขึ้นในช่วง 84 – 107 ปี ที่ผ่านมา อาคารพาณิชย์ (จี่อันตึ้ง – แสงฟ้า – มีจงมี) มีการใช้งานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่หลากหลาย เริ่มต้นจากโรงแรมสำหรับผู้เดินทางมาค้าขายในตัวเมืองนครราชสีมา มีทางขึ้นเล็ก ๆ ไปยังดาดฟ้าคอนกรีตซึ่งเปิดเป็นบาร์ชื่อ ริเวอร์ร่า โรงแรมนี้ภายหลังเปลี่ยนเป็นร้านขายนาฬิกาแสงชัย ภายใต้เจ้าของอาคารใหม่ซึ่งเป็นแขกซิกห์ ชื่อ อายีตซิงห์ นารูลา สัญชาติ อินเดีย ต่อมาได้ขายให้กับเจ้าของปัจจุบันในช่วงพุทธศักราช 2519 เพราะต้องการเดินทางกลับประเทศจากเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย หลังจากเปลี่ยนเจ้าของอาคาร อาคารถูกใช้เป็นร้านขายยาจี่อันตึ้ง ร้านมีจงมี และบริษัท คิงส์ทัวร์ ซึ่งให้บริการรถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 เจ้าแรก ๆ ของจังหวัด วิ่งระหว่างกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา ภายหลังเปลี่ยนเป็นร้านนาฬิกาแสงฟ้าจนถึงปัจจุบัน

อาคารพาณิชย์ (จี่อันตึ้ง – แสงฟ้า – มีจงมี) เมื่อแรกสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ลักษณะสมมาตร รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบโมเดิร์น (Modern) ภายหลังมีการต่อเติมชั้น 3 บนโครงสร้างอาคารเดิม อาคารบริเวณหัวมุมโดดเด่นด้วยระเบียงยื่น อาคารตกแต่งด้วยปูนปั้นบริเวณใต้หน้าต่าง ค้ำยัน หัวเสา คาน และช่องระบายอากาศ ประตูและหน้าต่างเป็นไม้สักบานกรอบไม้ด้านในเป็นเกล็ดเปิดเพื่อระบายอากาศ มีช่องแสงเกล็ดไม้ด้านบน หน้าต่างทุกชุดมีเหล็กกลมฝังในวงกบเสริมด้วยโครงไม้เนื้อแข็งเพื่อป้องกันขโมย ชั้น 2 ของอาคารมีความสูง 4 เมตร เป็นห้องโถงโล่ง มีช่องเกล็ดระบายอากาศที่ความสูง 3.20 เมตร พื้นและตงเป็นไม้สัก ชั้นล่างปูกระเบื้องลายขาวดำ

อาคารพาณิชย์ (จี่อันตึ้ง – แสงฟ้า – มีจงมี) เป็นหนึ่งในแนวคิดการอนุรักษ์ย่านการค้าเก่า “จอมพลถนนหัวมังกร” ของเทศบาลนครนครราชสีมาและกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน มีการจัดกิจกรรมในย่านถนนจอมพล ซ่อมแซมอาคารที่ทรุดโทรม การรวบรวมข้อมูล รูปภาพเพื่อจัดทำพิพิธภัณฑ์ ปรับปรุงสีอาคารให้เป็นเอกลักษณ์โดยใช้สีเหลือง (ผนัง) สีเขียว (ประตู หน้าต่าง) และสีขาว (บัวปูนปั้น) ในอัตราส่วน 70 – 20 – 10 อาคารพาณิชย์ (จี่อันตึ้ง – แสงฟ้า – มีจงมี) กลายเป็นแรงผลักดันให้อาคารต่าง ๆ บนถนนจอมพลได้เกิดความร่วมมือที่จะส่งเสริม อนุรักษ์และช่วยกันปรับปรุงอาคาร เพื่อฟื้นฟูความมีชีวิตชีวาของถนนจอมพลให้กลับคืนมาอีกครั้ง