คุ้มหลวงเมืองลำพูน

คุ้มหลวงเมืองลำพูน

รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น

ประเภทเคหสถานและบ้านเรือนเอกชน

ที่ตั้ง ถนนอินทยงยศ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

สถาปนิก/ผู้ออกแบบ หม่อมเจ้าทองแกมแก้ว ทองใหญ่

ผู้ครอบครอง ทายาทเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ โดยมีเจ้าสารินี (ณ ลำพูน) กลิ่นนาค เป็นผู้ดูแล

ปีที่สร้าง ประมาณพุทธศักราช 2482

ปีที่ได้รับรางวัล  พ.ศ. 2561

ประวัติเพิ่มเติม
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

“มีความครบถ้วนในส่วนองค์ประกอบอาคารที่ยังเก็บรักษาให้คงสภาพไว้ได้เป็นส่วนมาก ยกเว้นส่วนประตูทางข้างคุ้มที่สภาพแวดล้อมโดยรอบเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว หากสามารถอนุรักษ์ส่วนประกอบอื่นให้สมบูรณ์ได้จะมีคุณค่าและเป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ที่ดีเยี่ยม”

พลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ (พุทธศักราช 2417 – 2486) เจ้าหลวงผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 10 (องค์สุดท้าย) โปรดให้สร้างคุ้มหลวงแบบอาคารตึกขึ้นแทนคุ้มหลวงหลังเดิมที่เป็นไม้ ณ บริเวณคุ้มกลางเวียง ออกแบบโดยหม่อมเจ้าทองแกมแก้ว ทองใหญ่ ผู้เป็นลูกเขย และได้ช่างชาวจีนจากกรุงเทพมหานคร มาทำการก่อสร้าง แต่ก่อสร้างไม่ทันเสร็จสมบูรณ์ ช่างชาวจีนก็ขอลากลับกรุงเทพมหานครไป จึงได้ช่างพื้นเมืองชาวลำพูนมาก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จ และจัดให้มีงานทำบุญฉลองคุ้มหลังใหม่เมื่อพุทธศักราช 2482เมื่อสิ้นเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ชายาและโอรสธิดาได้แยกย้ายไปอาศัยในคุ้มและบ้านพักของตน คุ้มหลวงนี้จึงว่างลงระยะเวลาหนึ่ง จนเจ้าพงษ์ธาดา ณ ลำพูน โอรส เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้ลาออกจากราชการและพาครอบครัวมาอาศัยในคุ้มหลวงนี้เมื่อพุทธศักราช 2492 สืบต่อมา ปัจจุบันผู้พักอาศัยและดูแล คือ ธิดาเจ้าพงษ์ธาดา เจ้าสารินี (ณ ลำพูน) กลิ่นนาค และครอบครัว นอกจากตัวคุ้มหลวงซึ่งเป็นอาคารหลักแล้ว ภายในยังมีอาคารประกอบอื่น ๆ อีก ดังนี้

1. ครัวไฟ เป็นอาคารชั้นเดียว หลังคาปั้นหยา มีบางส่วนทำเป็นดาดฟ้า มีทางเชื่อมจากชั้นสองของคุ้มหลวง เพื่อใช้เป็นที่พักผ่อนของเจ้า

2. อาคารหอถังสูง สำหรับเก็บน้ำและจ่ายให้อาคารได้มีน้ำใช้

3. อาคารเครื่องปั่นไฟ สมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าของทางการจึงมีเครื่องปั่นไฟจ่ายไฟฟ้าให้อาคารได้ใช้

4. โรงรถ เป็นอาคารชั้นเดียว หลังคาปั้นหยา มุงกระเบื้องดินขอ

5. อาคารชั้นเดียว หลังคาปั้นหยา ใช้เป็นที่ตั้งพระโกศเจ้าจักรคำขจรศักดิ์

คุ้มหลวงลำพูนเป็นอาคารตึก 2 ชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมมตะวันตก หลังคาปั้นหยามุงกระเบื้องซีเมนต์ (หางตัด) พร้อมหอคอยคู่รูปแปดเหลี่ยมมุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ (หางว่าว) มุขหน้าทำเป็นหน้าจั่ว มีปูนปั้นเป็นรูปช้างชูงวงสองตัว ตรงกลางเป็นรูปจักรพร้อมอักษร “จค” ซึ่งเป็นอักษรย่อของพระนามเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เสาพาไลด้านหน้าทำเป็นเสากลมขนาดเล็กพร้อมซุ้มโค้งแบบฝรั่ง โครงสร้างอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐถือปูน พื้นไม้ ฝ้าเพดานไม้ ประตูหน้าและประตูห้องต่าง ๆ ทำเป็นประตู 2 ชั้น เป็นประตูบานเปิดคู่ลูกฟักไม้บานทึบชั้นหนึ่ง และมีบานเลื่อนอีกชั้นหนึ่ง ตัวบานเลื่อนเข้าไปเก็บในช่องของผนังก่ออิฐที่ทำเป็นผนังสองชั้น และยังใช้งานได้ดีทุกบาน เครื่องเรือนส่วนใหญ่เป็นเครื่องเรือนเดิมตั้งแต่เมื่อครั้งเจ้าพงษ์ธาดาได้เข้ามาอยู่ดูแลเมื่อพุทธศักราช 2492

คุ้มหลวงลำพูน มีคุณค่าในประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และสังคม เนื่องจากเป็นทั้งที่พำนักและที่ว่าการของเจ้าหลวงผู้นครลำพูน องค์ที่ 10 (องค์สุดท้าย) เป็นอาคารที่ออกแบบและก่อสร้างอย่างทันสมัยในยุคนั้นด้วยรูปแบบอิทธิพลตะวันตกที่แพร่หลายในเมืองหลวง จัดทำระบบประปาและไฟฟ้าขึ้นใช้เอง ก่อสร้างอย่างประณีตพิถีพิถันโดยเฉพาะงานไม้ รวมทั้งอุปกรณ์ประกอบอาคารและเครื่องเรือน และเป็นอาคารที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการผลักดันนโยบายด้านการอนุรักษ์เมืองเก่าลำพูน เพราะเป็นความภาคภูมิใจและตระหนักของคนลำพูนที่ทุกคนต้องกล่าวถึง ตลอดจนภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในสังคมคนลำพูน ในการรักษาคุณค่าเมืองเก่าและขับเคลื่อนนโยบายอนุรักษ์สถาปัตยกรรม เมือง และชุมชนต่อไป