a.e.y.space

a.e.y.space

รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น

ประเภทอาคารพาณิชย์

ที่ตั้ง เลขที่ 140 – 142 ถนนนางงาม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

สถาปนิก/ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ

สถาปนิก/ผู้ออกแบบอนุรักษ์/ปรับปรุง นายปกรณ์ รุจิระวิไล

ผู้ครอบครอง นายปกรณ์ รุจิระวิไล

ปีที่สร้าง ประมาณพุทธศักราช 2463 – 2467

ปีที่ได้รับรางวัล  พ.ศ. 2561

ประวัติเพิ่มเติม
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

“มีการคงรูปแบบภายนอกไว้ ส่วนภายในมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างแต่ยังสามารถคงองค์ประกอบที่สำคัญไว้ได้ เป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ตึกแถวที่ปรับประโยชน์ใช้สอยเพื่อการใช้งานแบบใหม่”

อาคาร a.e.y.space เป็นตึกแถว 2 คูหา รูปแบบสถาปัตยกรรมจีนผสมยุโรปบนถนนนางงาม ถูกสร้างขึ้นในยุคที่การค้าขายในเมืองสงขลาได้รับความนิยมสูงสุด ในอดีตตึกแถวคูหาหนึ่งเคยเป็น “ร้านหน่ำเด่า” ภัตตาคารอาหารฝรั่งโดยกุ๊กชาวจีน เป็นสถานที่จัดงานเต้นรำและเลี้ยงสังสรรค์ ส่วนอีกคูหาหนึ่งเป็น “ร้านฮับเซ่ง” ร้านน้ำชาเก่าแก่ของเมือง ซึ่งทั้ง 2 ร้าน ทำการค้าเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนกัน เป็นความสัมพันธ์ที่หาได้ยากในปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาคารทั้ง 2 คูหา ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมเรื่อยมา ทำให้เห็นถึงศิลปะการตกแต่งในแต่ละยุคสมัย ร้านหน่ำเด่ามีการตกแต่งใหม่ในยุค 1950 กรอบหน้าต่างบานใหญ่กระจกนูนสี่เหลี่ยมได้รับการเปลี่ยนทดแทนหน้าต่างบานสูงพร้อมราวระเบียงกันตกจากยุคอดีตซึ่งยังปรากฏอยู่ในตึกแถวอีกคูหาหนึ่งอย่างสมบูรณ์ หลังจากที่ร้านหน่ำเด่าและร้านฮับเซ่งปิดตัวลง เจ้าของตึกแถวก็ให้คนเช่าทำเป็นร้านอาหาร จนกระทั่งพุทธศักราช 2555 คุณปกรณ์ รุจิระวิไล ได้ซื้อตึกจากเจ้าของเดิมและเริ่มปรับปรุงฟื้นฟูอาคารเรื่อยมาจนเสร็จสมบูรณ์ในพุทธศักราช 2560 โดยการรักษาโครงสร้างเดิมและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมภายนอกอาคารทั้งหมดไว้

อาคาร a.e.y.space เป็นตึกแถว 2 ชั้น 2 คูหา ความยาว 25 เมตร ความกว้างคูหาละ 5 เมตร รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 500 ตารางเมตร อาคารแบ่งเป็นตึกด้านหน้าและตึกแถวด้านหลัง เชื่อมติดต่อกันโดยช่องประตูใหญ่กลางบ้าน โครงสร้างอาคารชั้นล่างเป็นผนังรับน้ำหนัก โครงสร้างอาคารชั้นบนและหลังคาเป็นไม้ ตึกแถวด้านหน้ามีช่องทางเดินใต้อาคาร (หงอคาขี่) เชื่อมตึกแถวทั้ง 2 คูหาเข้าไว้ด้วยกัน ประตูด้านหน้าเป็นบานเฟี้ยมไม้แบบเดิม มีการกั้นผนังด้วยประตูเหล็กกรุกระจกอีกชั้นด้านในเพื่อการใช้งานที่เหมาะสม มีการตกแต่งด้วยคิ้วปูนบริเวณช่องหน้าต่าง และช่องลมไม้ฉลุลาย บริเวณกลางบ้านมีช่องแสงเพื่อให้ความสว่างกับพื้นที่ภายใน ด้านหลังตึกแถวมีบ่อน้ำขนาดใหญ่ พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างประกอบด้วยพื้นที่ส่งเสริมงานศิลปะ (Art Space) ลักษณะเป็นรูปตัวแอล (L) ยาวไปถึงด้านหลัง สามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมและเสวนากลุ่ม ห้องเก็บของขนาดใหญ่ และห้องพักผ่อน ส่วนพื้นที่ใช้สอยชั้นบนเป็นห้องพัก 2 ห้อง สำหรับศิลปินต่างถิ่นมาทำงานศิลปะโดยได้รับแรงบันดาลใจจากการมาพักและใช้ชีวิตในเมืองสงขลา และสามารถแสดงงานในพื้นที่ชั้นล่างได้

อาคาร a.e.y.space เป็นตัวอย่างของการรักษาตึกแถวเก่าโดยการปรับปรุงฟื้นฟูให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม ตลอดจนการพัฒนาเมืองสงขลาในยุคที่ความเจริญรุ่งเรืองจากตะวันตกมีอิทธิพลต่ออาคารจีนพาณิชย์ เป็นตัวอย่างให้เจ้าของอาคารเก่าหลาย ๆ หลังในพื้นที่ได้เห็นถึงคุณค่าของการอนุรักษ์ และในขณะเดียวกันก็สามารถปรับใช้อาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน