สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี

สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี

อาคารศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคาร

อาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ

ที่ตั้ง  สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

สถาปนิก/ผู้ออกแบบ Kiso Kurokawa Architect & Associates และ บริษัท Shimizu Construction Company

สถาปนิก/ผู้ออกแบบ อนุรักษ์/ปรับปรุง อาจารย์อภินันท์ พงศ์เมธากุล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้ครอบครอง สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2527

ปีที่ได้รับรางวัล  พ.ศ. 2560

ประวัติเพิ่มเติม

สถาบันญี่ปุ่นศึกษาจัดตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในพุทธศักราช 2524 ต่อมาได้ขยายขอบเขตการศึกษาให้กว้างขึ้นเป็น “Area Study” ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ที่มุ่งเน้นการศึกษาความสัมพันธ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ต่อมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านกรมวิเทศสหการ โดยได้รับความช่วยเหลืออย่างดียิ่งจาก ฯพณฯ ทาเคโอะ ฟุคุดะ อดีนายกรัฐมนตรี และ ฯพณฯ ยาสึฮิโระ นากาโซเน่ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นซึ่งได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2526 ก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา ต่อมาในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นได้มอบหมายให้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศส่งคณะสำรวจมาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดตั้งศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา ภายหลังจากที่ได้รับรายงานจากคณะสำรวจแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตกลงให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าเป็นมูลค่า 1,150 ล้านเยน หรือ 115 ล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หลังจากนั้น คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้จัดตั้งเป็น “สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา” และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พุทธศักราช 2527 และเสด็จมาทำพิธีเปิดอาคารศูนย์ญี่ปุ่นศึกษาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พุทธศักราช 2528 และต่อมาทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย

อาคารศูนย์ญี่ปุ่นศึกษาจึงเป็นที่ตั้งของสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาในปัจจุบัน อาคารศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ล้อมรอบสนามหญ้า สวน บ่อน้ำ และบ้านญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการออกแบบโดยใช้เทคนิคสมัยใหม่ผสมกับการก่อสร้างแบบสมัยโบราณ คือ ได้มีการนำเอารูปแบบอาคารที่เรียกว่า Shinden Zukuri (ชินเด็น ซูคุริ) ซึ่งเป็นรูปแบบอาคารที่พักอาศัยของพวกขุนนางชั้นสูงของญี่ปุ่นในสมัยโบราณมาผสมผสานเข้ากับรูปแบบอาคารวัดพุทธศาสนาที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Garan Haichi (กะรัง ไฮชิ) คือ เป็นลักษณะของการที่มีอาคารอยู่ตรงกลาง มีอาคารอีกสี่ด้านอยู่ล้อมรอบ โดยมีระเบียงเชื่อมระหว่างอาคารต่าง ๆ และมีบ่อน้ำ ส่วนบ้านญี่ปุ่นซึ่งภายในห้องตกแต่งแบบญี่ปุ่น ใช้สำหรับพิธีชงน้ำชา และทำพิธีอื่นๆ

อาคารศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีเรื่อยมา ถึงแม้จะได้รับความเสียหายอย่างหนักจากอุทกภัยในพุทธศักราช 2554 แต่ก็ได้รับการปรับปรุงฟื้นฟูจนสามารถรักษาองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และพื้นที่โดยรอบแบบดั้งเดิมไว้ได้อย่างน่าชื่นชม ส่วนการใช้สอยภายในก็มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้งานมากยิ่งขึ้น