บ้านตานิด จังหวัดปทุมธานี
บ้านตานิด จังหวัดปทุมธานี
บ้านตานิด
รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคาร
เคหะสถานและบ้านเรือนเอกชน
ที่ตั้ง เลขที่ 40 หมู่ 2 ตำบลกระแชง อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อ
ผู้ครอบครอง ครอบครัว “เจริญไทยทวี”
ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2492
ปีที่ได้รับรางวัล พ.ศ. 2560
ประวัติเพิ่มเติม
บ้านตานิด ถูกสร้างขึ้นโดย อุบาสิกาสมปอง เจริญไทยทวี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณชุมชนตลาดน้ำ “บ้านกระแชง” ซึ่งมีเรือนแพค้าขายรียงรายอยู่ตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำ โดยบ้านที่สร้างขึ้นใช้เป็นที่อยู่อาศัยและดำเนินกิจการค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคของครอบครัว “เจริญไทยทวี” รวมทั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันเชลล์ (shell) ให้แก่เรือโดยสารและเรือรับจ้างทั่วไปในละแวกนั้น ซึ่งกิจการการค้านับว่ารุ่งเรืองมากในสมัยนั้น จนกระทั่งมีถนนตัดผ่านส่งผลให้วิถีชีวิตชาวตลาดน้ำ รวมทั้งแพปั๊มน้ำมันและการค้าขายของครอบครัวเจริญไทยทวีเริ่มสูญหายไปพร้อมกับความเจริญที่เข้ามาแทนที่ตั้งแต่พุทธศักราช 2523 ต่อมาบุตรชายคนโต คือ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี และบุตรชายคนรอง คือ กำนันวาณิช เจริญไทยทวี เป็นผู้ได้รับมรดกดูแลบ้านสืบทอดมาและส่งต่อมาจนถึงทายาทรุ่นที่ 3 ในปัจจุบัน หลังจากผ่านน้ำท่วมใหญ่ระหว่างพุทธศักราช 2553 – 2554 บ้านหลังนี้ก็ถึงคราวต้องปรับปรุงครั้งใหญ่ แต่จากสภาพบ้านที่ใหญ่โตกว้างขวางเกินจำนวนของผู้อยู่อาศัยที่ต่างก็แยกย้ายกันไป ประกอบกับความต้องการของทายาทที่อยากให้บ้านมีชีวิตชีวา และได้รับการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว “บ้านตานิด” จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นห้องพักมาตรฐานจำนวน 5 ห้อง ภายใต้แนวคิด ง่าย ๆ สบาย ๆ แบบบ้านเรา เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2559 หลังจากการปรับปรุงฟื้นฟูอยู่ราว 3 ปีเศษ ตั้งแต่ปลายพุทธศักราช 2555
บ้านตานิด เป็นบ้านไม้สักทอง 2 ชั้น หลังคาจั่ว โครงสร้างเป็นเสาไม้จำนวน 300 ต้น รองรับตัวบ้าน พื้นที่ชั้นล่างแบ่งเป็นห้องพักจำนวน 5 ห้อง โถงกลาง ห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ และโถงบันได ด้านหน้าที่ติดแม่น้ำมีระเบียงไม้กว้างโดยรอบ พื้นที่ชั้นบนแบ่งเป็นห้องนอนของเจ้าของบ้านจำนวน 3 ห้อง พร้อมระเบียงไม้ ราวกันตกและลูกกรงเป็นไม้ ผนังภายนอกอาคารเป็นผนังไม้ตีซ้อนเกล็ดตามนอน บานประตูชั้นล่างเป็นบานเฟี้ยมไม้ ส่วนหน้าต่างเป็นบานไม้เปิดคู่ เหนือประตูและหน้าต่างมีทั้งที่เป็นช่องลมและกระจกสี การตกแต่งภายในใช้เครื่องเรือนเดิมเป็นส่วนใหญ่ งานจัดสวนไม้ดอกไม้ประดับเน้นเฉพาะไม้ไทยและไม้หอม เช่น ลำดวน คัดเค้า ยี่หุบ ประยงค์ แก้วเจ้าจอม ปริศนา ราตรี และสายหยุด เป็นต้น
บ้านตานิด แสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงฟื้นฟูที่สามารถรักษาคุณค่าทางสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเอาไว้ได้ และส่วนต่อเติม เช่น ห้องน้ำ ครัว และพื้นที่นอกชานก็ได้รับการออกแบบที่เหมาะสม กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ถือเป็นตัวอย่างการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่ทำให้เห็นถึงร่องรอยประวัติศาสตร์ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง วิถีชีวิต และสังคมของชุมชนริมน้ำเจ้าพระยาเมื่อ 70 ปีที่ผ่านมา