กลุ่มตึกแถวในเมืองเก่าสงขลาชุดที่ปฏิบัติการอนุรักษ์โดยเกล้ามาศ ยิบอินซอย
กลุ่มตึกแถวในเมืองเก่าสงขลาชุดที่ปฏิบัติการอนุรักษ์โดยเกล้ามาศ ยิบอินซอย
รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น
ประเภทอาคาร
ที่ตั้ง ถนนนครนอก ถนนนครนครใน ถนนปัตตานี ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏ
ผู้ครอบครอง มูลนิธิเกี่ยวกับศิลปะ อาร่า โดยคุณเกล้ามาศ ยิบอินซอย
ปีที่สร้าง ประมาณรัชกาลที่ 6
ปีที่ได้รับรางวัล พ.ศ. 2561
ประวัติเพิ่มเติม
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ
“เป็นชุดตัวแทนความตั้งใจในการเก็บรักษา แสดงความหลากหลายของการอนุรักษ์และการใช้สอยอาคารเก่า สร้างพื้นที่กิจกรรมรูปแบบใหม่ให้เมืองเก่าสงขลา แต่โดยภาพรวมยังมีความสอดล้องและไม่ลดทอนคุณค่าสภาพเดิม”
จากความชื่นชอบในการถ่ายภาพอาคารเก่าและวิถีชีวิตในเมืองเก่าสงขลา คุณนภดล ขาวสำอางค์และคุณเกล้ามาศ ยินอินซอย จึงตัดสินใจซื้ออาคารเก่า 6 หลัง เพื่อซ่อมแซมและปรับปรุงให้เป็นบ้านพักสำหรับอยู่อาศัย พื้นที่จัดแสดงศิลปะ เป็นสถานที่เก็บงานศิลปะร่วมสมัยของคุณย่า มีเซียม ยิบอินซอย ศิลปินชั้นเยี่ยม พุทธศักราช 2494 สาขาจิตรกรรมคนแรกของประเทศไทย และต้องการอนุรักษ์อาคารเก่าและพื้นที่เมืองสงขลาเอาไว้ เพราะในอดีตคุณมีเซียมและสามีเคยมีสำนักงานธุรกิจเหมืองแร่อยู่ที่หาดใหญ่และมีความผูกพันกับเมืองสงขลา เมื่อซื้ออาคารเรียบร้อยแล้ว เจ้าของอาคารได้ตั้งชื่ออาคารใหม่ให้สอดคล้องกับบรรพบุรุษที่มีเชื้อสายจีน และได้ดำเนินการบูรณะอาคารจนแล้วเสร็จ ประกอบด้วย
1. Misiem’s แกลอรีศิลปะ ถนนปัตตานี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น จำนวน 3 คูหา พื้นชั้น 1 ปูด้วยกระเบื้องดินเผา ชั้น 2 และ 3 เป็นพื้นไม้ ด้านหน้าและด้านหลังอาคารแต่ละชั้นมีระเบียง ภายหลังมีการปรับปรุงบันไดทางขึ้น และต่อเติมอาคารด้านหลังซึ่งเป็นลานโล่ง เพื่อจัดแสดงงานประติมากรรมเหล็ก ของคุณมีเซียม ยิบอินซอย ภายในอาคารแต่ละชั้นจัดแสดงงานศิลปะ และผลงานสะสมของทางมูลนิธิเกี่ยวกับศิลปะ อาร่า
2. ตึกยับฝ่ามี ถนนนครนอก เป็นอาคารรูปแบบอาคารพาณิชย์ที่มีลักษณะแบบโมเดิร์น แต่ยังคงลักษณะและองค์ประกอบแบบสถาปัตยกรรมจีนอยู่ มีลักษณะเด่น คือ มีแผงบังหลังคา (Parapet) โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กใช้ระบบเสาคาน เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้น 1 บริเวณตรงการบริเวณเป็นลานโล่งที่มีบ่อน้ำ เมื่อมีการบูรณะปรับปรุงอาคารได้ต่อเติมบริเวณชั้น 1 โดยกั้นผนังกระจกเพื่อให้เกิดระยะห่างระหว่างอาคารและถนน เนื่องจากถนนชิดกับตัวอาคารบริเวณชั้น 3 ต่อเติมดาดฟ้าเพื่อเป็นห้องพักที่สามารถชมทิวทัศน์ของเมืองสงขลาได้
3. ตึกยับฝ่าหวุ่น ถนนนครใน เป็นอาคารที่มีทางเข้าออก 2 ด้าน ด้านถนนนครในมีลักษณะอาคารแบบบ้านจีน โครงสร้างเป็นแบบกำแพงรับน้ำหนัก ส่วนอาคารด้านถนนนครนอกมี 3 ชั้น โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีการตกแต่งลวดลายปูนปั้นด้านหน้าอาคารบริเวณส่วนช่องแสง หัวเสา ระเบียง และค้ำยัน แบบตะวันตก ทั้งสองอาคารเชื่อมกันด้วยลานโล่งตรงกลาง โดยภายหลังการบูรณะปรับปรุงได้มีการต่อเสริมศาลาตรงลานกลางบ้านโดยจำลองแบบมาจากศาลาที่วัดท้ายยอเพื่อเป็นหอนั่งพักผ่อน 4. ตึกยับฝ่ากวง ถนนนครนอก มีลักษณะเป็นอาคารแบบจีนดั้งเดิม โครงสร้างแบบกำแพงรับน้ำหนัก มีลานโล่งตรงกลางบ้านและมีบ่อน้ำ หลังคาโครงสร้างไม้มุงกระเบื้องดินผาหรือกระเบื้องเกาะยอ หน้าต่างทำช่องเปิดด้วยไม้ขนาดเล็ก ประตูเป็นแบบบานเฟี้ยม ซึ่งปัจจุบันยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมไว้ 5. อาคารโกดังข้าว ถนนนครนอก เดิมเคยเป็นอาคารร้านค้า ด้านหน้าเป็นอาคารรูปแบบจีนดั้งเดิมมุงกระเบื้องดินเผา ประตูแบบานเฟี้ยม พื้นปูกระเบื้องดินเผา ภายในร้านค้ามีชั้นลอยสำหรับพักสินค้า ด้านหลังเป็นอาคารโล่งที่ยังคงสภาพและรูปแบบเดิมไว้
6. โรงกลึงเก่า ถนนนครนอก เดิมเคยเป็นโรงกลึงมาก่อน ตัวอาคารแย่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหน้าเป็นอาคารร้านค้า โครงสร้างเป็นผนังคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาเป็นโครงไม้มุงด้วยสังกะสี ส่วนหลังเป็นส่วนลานโล่งมี 2 ชั้น ผนังโครงไม้บุด้วยสังกะสี ส่วนชั้น 2 เป็นส่วนที่พักอาคาร โครงสร้างไม้มุงหลังคาสังกะสี ภายหลังได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารเพื่อสำหรับจัดกิจกรรมทางศิลปะของมูลนิธิโดยยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมไว้ มีการต่อเติมด้านหลังของอาคารซึ่งติดกับทะเลสาบสงขลา โดยเปลี่ยนเป็นผนังกระจกเพื่อให้แสงสว่างได้เข้ามาภายในอาคาร และสามารถรับลมจากทะเลสาบสงขลา
อาคารทั้ง 6 หลังถือเป็นตัวแทนความสำคัญของเมืองสงขลาในอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน ในฐานะเป็นเมืองบนเส้นทางการค้าที่สำคัญ แสดงให้เห็นถึงวิธีการอนุรักษ์และการรักษาความแท้และรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของอาคารที่สะท้อนถึงการรับวัฒนธรรมจีนมาทั้งหมดตั้งแต่รูปแบบสถาปัตยกรรม การวางผัง ที่ใช้ด้านหน้าของอาคารเป็นเรือนค้าขาย ด้านหลังใช้เป็นที่พักอาศัย และเชื่อมต่อด้วยลานตรงกลางบ้านไว้