อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

ค้นหา

บ้านสี่แยกหัวตะเข้

บ้านสี่แยกหัวตะเข้

ที่ตั้ง เลขที่ 162 ชุมชนตลาดเก่าหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร

สถาปนิก / ผู้ออกแบบ นายเซี๊ยะฮั่ง แซ่อึ้ง

ผู้บูรณะ: นายชวลิต สัทธรรมสกุล

ผู้ครอบครอง นายสันติ รงค์สวัสดิ์

เช่าโดย: นายชวลิต สัทธรรมสกุล

ปีที่สร้าง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ประวัติ

บ้านสี่แยกหัวตะเข้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนตลาดเก่าหัวตะเข้ซึ่งเป็นย่านการค้าของชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมากว่า 100 ปี บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกที่คลองประเวศบุรีรมย์และคลองลำปลาทิวตัดผ่านกัน เดิมชั้นล่างเป็นร้านขายส่ง และของชำ เช่น ผัก ผลไม้ กะปิ น้ำปลา มะขามเปียก และน้ำมัน เป็นต้น ส่วนชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว สมัยนั้นนายเซี๊ยะฮั่งเดินทางโดยเรือเพื่อไปข้าวซื้อของในย่านคลองผดุงกรุงเกษมและนำมาจำหน่ายที่ร้าน สำหรับลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่อาศัยริมคลอง ชาวสวน และชาวบ้านในชุมชนบริเวณนี้ การค้าขายของนายเซี๊ยะฮั่งมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับ จนกระทั่งมีการพัฒนาถนนอ่อนนุชให้มีสภาพดีขึ้น มีการสร้างตลาดและตึกแถวค้าขายริมถนน มีสินค้าและบริการที่มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งชนิดและปริมาณ ลูกค้าเดิมของนายเซี๊ยะฮั่งหันไปเลือกซื้อสินค้าที่ตึกแถวใหม่เหล่านี้ ทำให้กิจการของนายเซี๊ยะฮั่งค่อยๆ ซบเซาลง จนเมื่อพุทธศักราช 2528 กิจการของนายเซี๊ยะฮั่งจึงปิดตัวลง ต่อมาได้มีการปรับปรุงเรือนแถวไม้หลังนี้ให้เป็นบ้านเช่า จนกระทั่งผู้เช่ารายสุดท้ายได้ย้ายออกในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2556 หลังจากนั้น นายชวลิต สัทธรรมสกุล ได้ทำสัญญาเช่าอาคารจากนายสันติ รงค์สวัสดิ์ หลานชายนายเซี๊ยะฮั่ง และเริ่มปรับปรุงฟื้นฟูอาคาร โดยนายชวลิต สัทธรรมสกุล เล่าว่า “…..แรงบันดาลใจที่ทำให้ตัดสินใจมาเช่าเรือนแถวไม้หลังนี้ เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่ใกล้เคียงกับชุมชนตลาดเก่าหัวตะเข้ สมัยเป็นเด็กเรียนที่โรงเรียนศึกษาพัฒนา และวิทยาลัยช่างศิลป์ ทำให้คุ้นเคยกับชุมชนนี้เป็นอย่างดี รวมทั้งได้เข้ามามีส่วนร่วมกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนหลายครั้ง ทำให้มองเห็นถึงความเป็นไปได้ในการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารหลังนี้ เพื่อใช้เป็นร้านขายเครื่องดื่ม และที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว…..” การปรับปรุงฟื้นฟูบ้านสี่แยกหัวตะเข้แล้วเสร็จในเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2557 และเปิดให้บริการตั้งแต่นั้นเรื่อยมา

บ้านสี่แยกหัวตะเข้เป็นเรือนแถวไม้สองชั้น โครงสร้างไม้ หลังคาชั้นบนจั่วมุงด้วยสังกะสี พื้นที่ชั้นล่างแบ่งเป็นร้านอาหาร ห้องครัว ห้องนอน ห้องเก็บของ โถงบันได และห้องน้ำ ด้านหน้าและด้านข้างที่ติดคลองมีระเบียงไม้โดยรอบ พื้นที่ชั้นบนแบ่งเป็นห้องพัก 3 ห้อง และห้องโถงบันได 1 ห้อง ด้านหน้าอาคารชั้นบนมีระเบียงไม้ ราวกันตกและลูกกรงเป็นไม้ มีหลังคาปีกนกมุงด้วยสังกะสีโดยรอบอาคารชั้นล่าง ผนังภายนอกอาคารทั้งหมดเป็นผนังไม้ตีซ้อนเกล็ดตามนอน เหนือผนังมีช่องลมยาวตลอดแนว ผนังภายในเป็นผนังไม้ บานประตูชั้นล่างเป็นบานเฟี้ยม เหนือประตูมีช่องลมยาวตลอดแนว ส่วนหน้าต่างเป็นบานไม้เปิดคู่

บ้านสี่แยกหัวตะเข้แสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของอาคาร ผู้เช่าอาคาร นักวิชาการ และนักศึกษาในการสำรวจ การบันทึกข้อมูล การระบุคุณค่าความสำคัญในด้านต่างๆ แนวทางการวางแผนอนุรักษ์และพัฒนา จนนำไปสู่การปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ ทำให้บ้านสี่แยกหัวตะเข้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และกลายเป็นต้นแบบให้กับเจ้าของอาคารหลายหลังในชุมชนตลาดเก่าหัวตะเข้ได้เริ่มปรับปรุงฟื้นฟูอาคารของตนเอง