สี่แยกประตูน้ำเข้ม
อาคารพาณิชย์ สี่แยกประตูน้ำเข้ม
ที่ตั้ง เลขที่ 494 – 496 ถนนสุมนเทวราช ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
สถาปนิก / ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อ
ผู้ครอบครอง ศาสตราจารย์ ดร. สุรางค์ โค้วตระกูล และพี่น้อง
เช่าโดย: นางดวงตา ลิมปะพันธุ์
ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2471
ประวัติ
อาคารพาณิชย์ สี่แยกประตูน้ำเข้ม ตั้งอยู่ในย่านพาณิชยกรรมของเทศบาลเมืองน่าน บริเวณสี่แยกซึ่งเป็นจุดเด่นของเมือง สร้างโดยเจ้าราชวงศ์สุทธิสาร (ทายาทเจ้าผู้ครองนครน่าน) เพื่อให้เช่าทำกิจการร้านค้า ต่อมาได้ตกเป็นของนายจือกวาง และนางบุญปัญญ์ โค้วตระกูล เปิดกิจการชื่อว่า “ห้างยู่เซ่งเชียง” หลังจากนั้นในพุทธศักราช 2552 คุณศรีวิชชา รักจำรูญ ได้ปรับปรุงอาคารให้มีสภาพดีขึ้น และมีเอกชนมาขอเช่าเป็นบริษัทรับจองตั๋วโดยสารเครื่องบินและบริการการท่องเที่ยว ชื่อว่า “บ้านท่องเที่ยว” ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นร้านอาหารเช้าแบบพื้นเมือง ชื่อว่า “Sweety 9” โดยเจ้าของร้าน คือ นางดวงตา ลิมปะพันธุ์ ได้สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมทางสังคม และกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมบนพื้นที่ชั้นสองของร้านร่วมกับกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์และศิลปินในพื้นที่ โดยมีแนวคิดในการฟื้นชีวิตชีวาให้กับอาคารเก่า ดึงดูดคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสัมผัส เข้ามาใช้งาน และจัดกิจกรรมในบริเวณบ้าน พร้อมทั้งยินดีให้คนในท้องถิ่นเข้ามาใช้พื้นที่ในการรวมกลุ่มสนใจต่างๆ เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน เนื่องด้วยตัวอาคารอยู่ในถนนสายสำคัญและเป็นย่านธุรกิจ มีความคับคั่งของผู้คน รอบข้างมีโรงแรม และร้านค้าหลายแห่ง
อาคารพาณิชย์ สี่แยกประตูน้ำเข้ม เป็นอาคารไม้สองชั้น จุดเด่น คือ ด้านหน้าร้านเป็นทางเดินอยู่ใต้พื้นชั้นบนซึ่งช่วยกันแดดและฝนได้เป็นอย่างดี ประตูชั้นล่างเป็นบานเฟี้ยม เหนือประตูบานเฟี้ยมมีช่องระบายอากาศยาวตลอดแนว หลังคาปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์รูปว่าว ถือเป็นอาคารในย่านตลาดเก่าหนึ่งในไม่กี่หลังที่ยังหลงเหลือจากเหตุการณ์ไฟไหม้ตลาดราชพัสดุครั้งใหญ่เมือหลายสิบปีก่อน มีการปรับปรุงใช้งานมาเป็นระยะจนถึงปัจจุบัน จัดอยู่ในกลุ่มอาคารเก่าเมืองน่านที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ โดยมีการประกาศอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2559 ที่ผ่านมา ในงานวันอนุรักษ์มรดกไทยที่จัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
อาคารพาณิชย์ สี่แยกประตูน้ำเข้ม เป็นตัวอย่างของการรักษาอาคารไม้ดั้งเดิมไว้ได้อย่างน่าชื่นชมโดยยังรักษาสภาพรูปแบบดั้งเดิม แต่เสริมความแข็งแรงเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจที่สอดคล้องกับตัวอาคารท่ามกลางกระแสของการพัฒนาเมืองและสภาพเศรษฐกิจของเมืองน่านปัจจุบัน ทำให้เจ้าของอาคารเก่าหลายๆ หลังในพื้นที่เห็นถึงคุณค่าของการอนุรักษ์อาคารแทนการรื้อถอน