อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

อาคารอริยาศรมวิลล่า

อาคารอริยาศรมวิลล่า

ที่ตั้ง เลขที่ 67 ซอยสุขุมวิท 1 (รื่นฤดี) ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา จังหวัดกรุงเทพมหานคร

สถาปนิก / ผู้ออกแบบหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ และอาจารย์จรัล สมชะนะ

ผู้ออกแบบอนุรักษ์ ปริย เชนะกุล (ภูมิสถาปนิกและวางผัง) คุณสุทิต วังรุ่งอรุณ (สถาปนิก) บริษัท IFR โดย เดวิด ลีส์ และลดาวัลย์ ลีละยูวะ (มัณฑนากร)

ผู้ครอบครอง จุลวัฒน์ เชนะกุล นิศา เชนะกุล และปริย เชนะกุล

ปีที่สร้าง พ.ศ. 2485

ปีที่ได้รับรางวัล พ.ศ. 2554

ประวัติ

อาคารอริยาศรมวิลล่า หรือบ้านคุณพระเจริญวิศวกรรมเดิม ตั้งอยู่ฝั่งใต้ของคลองแสนแสบ สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของคุณพระเจริญวิศวกรรม (เจริญ เชนะกุล) ขุนนางเชื้อสายอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลปัจจุบัน คุณพระเจริญวิศวกรรม ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่นานถึง 27 ปี จนได้รับขนานนามว่าเป็น บิดาแห่งวิศวกรไทย หลังจากที่คุณพระเจริญวิศวกรรมได้ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. 2530 อาคารหลังนี้จึงตกแก่ทายาท คือ นายจุลวัฒน์ เชนะกุลและต่อมาได้มอบให้บุตรี คือ นางปริย เชนะกุล ซึ่งเป็นภูมิสถาปนิกที่มีความประสงค์ที่จะอนุรักษ์อาคารหลังนี้ เพื่อเป็นตัวอย่างของอาคารทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และภูมิสถาปัตยกรรม ที่ผสมผสานกลมกลืนอย่างงดงาม โดยเริ่มทำการออกแบบปรับปรุงอาคาร พื้นที่โดยรอบซึ่งมีขนาด 1 ไร่ครึ่ง และก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมด้านหลังในปี พ.ศ.2548 โดยการก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551 ภายใต้ชื่อว่า อริยาศรมวิลล่า เป็นบูติคโฮเต็ล และเปิดให้มีการปฏิบัติธรรมเป็นสาธารณะกุศล

ลักษณะอาคารเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 3 ชั้น โครงสร้างเป็นผนังรับน้ำหนัก รูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นการผสมผสานระหว่างบ้านทรงไทยร่วมสมัย วัสดุและเทคโนโลยีการก่อสร้างจากตะวันตก ซึ่งทำให้บ้านหลังนี้มีความโปร่งเบา หลังคาที่สูงลาดชันแต่ตวัดปลายให้โค้งอ่อนช้อยสามารถป้องกันแดดฝนได้ดี พื้นอาคาร ประตูหน้าต่าง ช่องลม ราวบันได และลูกกรงฉลุลาย ล้วนทำจากไม้สักที่มีความงดงามด้วยฝีมือช่าง พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างประกอบด้วยพื้นที่นั่งเล่นและรับประทานอาหารของแขกซึ่งปรับเปลี่ยนมาจากห้องรับแขกเดิม และห้องอาหารซึ่งยังคงใช้ห้องอาหารเดิม ส่วนบริเวณที่จอดรถเดิมถูกกั้นเป็นพื้นที่ต้อนรับ ขนาดเล็ก พื้นที่ชั้น 2 ประกอบด้วยห้องนอน 2 ห้อง และชั้นสองครึ่งมีห้องนอน 1 ห้อง ซึ่งลอยอยู่กลางอากาศ รับน้ำหนักโดยค้ำยันไม้ที่ถ่ายแรงลงผนังด้านล่าง พื้นที่ชั้น 3 เป็นห้องพระส่วนตัวของเจ้าของบ้าน ซึ่งปรับเปลี่ยนมาจากห้องนอนเดิมของคุณพระเจริญวิศวกรรม และมีการต่อเติมสะพานเชื่อมชั้น 3 มายังอาคารใหม่ทางด้านหลังบ้าน

นอกจาก อาคารบ้านคุณพระเจริญวิศวกรรม จะได้รับการอนุรักษ์โดยสามารถรักษารูปแบบดั้งเดิมทางสถาปัตยกรรม ที่มีคุณค่าไว้ได้แล้ว การรักษาต้นไม้ ที่ว่างและบรรยากาศโดยรอบอาคาร ยังได้รับการคำนึงถึงเช่นกัน โดยเจ้าของอาคารได้ให้ ความเคารพต่อบ้านหลังนี้ การสื่อความหมายของประวัติความเป็นมา วิถีชีวิตของอดีตท่านเจ้าของสถานที่ เพื่อให้เพียบพร้อม ด้วยคุณค่าของงานอนุรักษ์ที่เป็นองค์รวมอย่างสมบูรณ์ที่สุด

  

Ariyasomvilla

Location 67 Soi Sukhumvit 1 (Ruenrudi), Sukhumvit Road, Khwaeng Khlong Toei Nuea, Khet Vadhana, Bangkok

Architect / Designer M.C. Vothayakorn Voravan & Jarun Somchana

Conservation Designer Pariya Chenakul (Restoration of landscape architect and planning) Suthit Wangrungarun (Architect) IFR by David Lees and Ladawan Leelayuwa (Interior Designer)

Proprietor Julawat Chenakul, Nisa Chenakul and Pariya Chenakul

Date of Construction 1942

Conservation Awarded 2011

History

Ariyasomvilla or the house of Khun Phra Jaroen Visawakam (Jaroen Chenakul) is located on the South of the Sansab Canal. Khun Phra Jaroen Visawakam, a British engineer, had been the dean of Faculty of Mechanical Engineering of Chulalongkorn University for 27 years until he was designated as the “Father of Thai Engineer”. The building was restored to preserve as a good example of the architecture, engineering and landscape architecture with harmonious beauty. The area consists of 1.5 rai. The new building was built in the back in 2005. The building was completed to provide services in August 2008 under the name “Ariyasomvilla” as a boutique hotel. It is also opened for public charity on Dharma practice.

It is a 3 storey ferro concrete building in a combine contemporary Thai style with materials and construction technology from the West creating the building with a bright light. The high and slope roof with curve at the end can prevent rain and sunshine well. The floor, doors, windows, railings and balustrades are made of teakwood with beautiful craftsmanship. The ground floor is the living and dinner area for the guests. The second floor consists of two bedrooms and the half-second floor has one bedroom. The third floor is the private room of the owner. There is a bridge to go to the new building as well.

Apart from this, the space and trees surrounding the building have been designed to be consistent to the architectural style of the building. It is to indicate to the history and lifestyle of the founder of this building, which is valuable for historic preservation.