อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

ค้นหา

บ้านหลวงอำนาจจีนนิกร

บ้านหลวงอำนาจจีนนิกร

ที่ตั้ง 362 ง. ซอยกลป้อมค่าย ถนนวชิรปราการ ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

สถาปนิก/ผู้ออกแบบ หลวงอำนาจจีนนิกร (ฮั้ว  บุปผเวส) และช่างไม้พื้นบ้านไม่ปรากฏชื่อ

ผู้ครอบครอง นางนันทพร ศานติเกษม

ปีที่สร้าง ก่อนปี พ.ศ.2424 (เนื่องจากปรากฏหลักฐานการมีอยู่ของตัวบ้านโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2424)   

ปรับปรุงซ่อมแซม พ.ศ.2554

ปีที่ได้รับรางวัล -

ประวัติ

บ้านหลวงอำนาจจีนนิกร ปลูกสร้างขึ้นโดย หลวงอำนาจจีนนิกร (ฮั้ว บุปผเวส) บุตรชายคนกลางของจีนปัง แซ่ตั๊ง และอำแดงก่า เพื่อใช้อยู่อาศัยร่วมกับอำแดงพริ้ง ภรรยาคนที่สองของท่านภายหลังจากคุณอิ่มภรรยาคนแรกถึงแก่กรรม หลวงอำนาจจีนนิกร เป็นผู้มีฐานะมั่งคั่งจากการประกอบกิจการทำการประมง ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายอากร (เก็บภาษีบ่อนเบี้ย) และปรากฏหลักฐานจากโฉนดที่ดินเก่าแก่ว่าท่านดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านอีกด้วย นอกจากนี้หลวงอำนาจจีนนิกรยังเกี่ยวดองมีศักดิ์เป็นน้าเขยของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชรฯ) ผ่านทางคุณอิ่มภรรยาคนแรกของท่าน ทำให้ในอดีตบ้านหลังนี้ได้เคยต้อนรับเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายท่าน ครั้งที่สำคัญที่สุดคือการเสด็จมาของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ในประมาณปี พ.ศ. 2473

บ้านหลวงอำนาจจีนนิกรมีลักษณะเป็นบ้านเรือนไทยสามหลังสร้างหันหน้าเรือนเข้าล้อมนอกชานที่อยู่ตรงกลาง ตัวบ้าน มีลักษณะเป็น “บ้านสะพาน” คือ ปลูกสร้างอยู่ในทะเล ใต้ถุนบ้านเป็นเลนและมีสัตว์น้ำ เช่นปู ปลา หอย และน้ำทะเลขึ้นถึงแม้กระทั่งในปัจจุบัน ต่างกันก็แต่เพียงในยุคก่อนมีสะพานไม้ยาวนับร้อยเมตรทอดจากพื้นดินมายังบ้านหลังนี้ แต่ในปัจจุบันทางเทศบาลได้รื้อสะพานออกแล้วสร้างเป็นถนนซอยขึ้นแทน ซุ้มประตูทางเข้าบ้านเป็นแบบจีนตั้งอยู่ทางทิศเหนือของนอกชาน เรือนประธานอยู่ทางด้านทิศตะวันออกหลังคาเป็นทรงไทย เรือนอีกสองหลังหลังคาปั้นหยาอยู่ทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตกของนอกชานตามลำดับ ตัวบ้านเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สัก ไม้ตะแบก ไม้ประดู่ และไม้แดง  เสาทุกต้นยาวเป็นพิเศษเนื่องจากฐานราก เป็นเลน เสาและไม้กระดานแต่ละแผ่นไม่มีรอยต่อ ไม่ใช้ตะปู มีลักษณะเป็นเรือนเครื่องสับทั้งหมด เรือนไทยหน้าจั่วเป็นแบบใบเรือ ฝาผนังเป็นฝาเข้าลิ้นไม้แบบฝาสายบัว หลังคาเรือนมุงด้วยกระเบื้อง กระเบื้องว่าว และสังกะสี ตัวเรือนด้านทิศใต้เป็นบานเฟี้ยมไม้พับเปิดได้ตลอดทั้งแนวทำให้รับลมได้เต็มที่ ห้องด้านในเรือนประธานมีศาลเจ้าแบบจีน มีป้ายสลักว่าเป็นห้องเก็บสิ่งล้ำค่า และมีป้ายคำกลอนมงคลแกะสลักด้วยไม้แบบเดียวกันที่หน้าประตูอีกสามแผ่น แปลโดยรวมหมายถึงความราบรื่นรุ่งเรือง สามัคคีและมีชื่อเสียงโด่งดังตลอดชายฝั่งสยามประเทศ  

บ้านหลวงอำนาจจีนนิกรได้ตกทอดลงสู่บุตรชายและบุตรสะใภ้ของท่าน คือ นายชำนาญ-นางหยี่ บุปผเวส และครอบครัวใช้อยู่อาศัยตลอดมาจนกระทั่งนางหยี่ บุปผเวสถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2529 บ้านหลวงอำนาจจีนนิกรจึงขาดผู้อยู่อาศัย จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2553 เมื่อบ้านรกร้างทรุดโทรมลงมาก นางนันทพร ศานติเกษม ทายาทของ นายชำนาญ-นางหยี่ บุปผเวส ซึ่งเป็นนักเขียนนวนิยาย นามปากกา “ปิยะพร ศักดิ์เกษม” มีผลงานเป็นที่รู้จัก ได้รับพระราชทานรางวัลและได้รับรางวัลพระราชทาน ด้านงานเขียนมาแล้วหลาย รางวัล ได้ทำการซ่อมแซมโดยอนุรักษ์ให้คงสภาพตามแบบเดิมทุกประการเพื่อรักษาสภาพการเป็น “บ้านสะพาน”แบบดั้งเดิมที่มีความสมบูรณ์เพียงหลังเดียวซึ่งเหลืออยู่ใน ชุมชน ทั้งยังเป็นบ้านเก่าแก่ที่มีประวัติด้วยเรื่องราวในตัวของมันเองและรูปแบบ สถาปัตยกรรม การซ่อมแซมนี้เพิ่มเติมเพียงห้องน้ำเพื่อให้สะดวกแก่ผู้มาใช้สถานที่และ เพิ่มฉากกั้นหน้าประตูเพื่อความปลอดภัยเท่านั้น ปัจจุบันบ้านหลวงอำนาจจีนนิกรใช้เป็นที่จัดประชุมสัมมนาของกลุ่มนักจัด กิจกรรม ใช้ถ่ายภาพ ถ่ายรายการโทรทัศน์ ใช้เป็นสถานที่ศึกษาปฏิบัติธรรม ใช้ประกอบงานบุญต่างๆทั้งของครอบครัวและชุมชน