อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

มัสยิดบางหลวง

มัสยิดบางหลวง

ที่ตั้ง เลขที่ 802 ซอยมัสยิดบางหลวง ถนนอรุณอมรินทร์ตัดใหม่ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร

ผู้ครอบครอง มัสยิดบางหลวง

ปีที่สร้าง สมัยรัชกาลที่ 3

ปีที่ได้รับรางวัล พ.ศ. 2554

ประวัติ

มัสยิดบางหลวง เป็นศาสนสถานที่สำคัญของชุมชนชุมชนกุฎีขาว สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยการนำของ โต๊ะหยีซึ่งเป็นพ่อค้าชาวมุสลิม หลังจากนั้นมัสยิดบางหลวงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง สำหรับมัสยิดบางหลวง หลังปัจจุบันสันนิษฐานได้ว่าสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากรูปแบบสถาปัตยกรรมคล้ายพระอุโบสถและพระวิหารทรงไทยซึ่งเป็นรูปแบบพระราชนิยมในสมัยนั้น โดยอาคารมีการประยุกต์และเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้สอยรวมถึงการประดับตกแต่งที่เหมาะสมและสอดคล้องกับท้องถิ่น

มัสยิดบางหลวงเป็นอาคารอิฐถือปูนทั้งหลัง ผังพื้นอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 12 เมตร ยาว 24 เมตร และสูง 16 เมตร ด้านตะวันออกของอาคารเป็นพาไลซึ่งมีเสา 6 ต้น รองรับหลังคาของพาไล ต่อจากพื้นของพาไลมีบันไดทางขึ้นอาคาร 2 ด้านซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือและทิศใต้ โดยบันไดนี้เชื่อมต่อกับระเบียงทางเดินรอบห้องละหมาด ซึ่งมีระเบียงล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน โดยระเบียงด้านตะวันออกมีขนาดใหญ่กว่า 3 ด้านที่เหลือซึ่งมีขนาดเท่ากัน หลังคาของระเบียงทั้งหมดเป็นปีกนก โดยมีเสาจำนวน 26 ต้น รองรับโครงสร้าง ต่อจากระเบียงด้านตะวันออกเป็นบันไดและประตูทางเข้าห้องละหมาด โดยบันไดและประตูนี้ตั้งอยู่กึ่งกลางของผนังห้องด้านตะวันออก สำหรับผนังด้านนี้มีการพอกเสาด้านหน้าทั้ง 4 ต้น หลังคาของห้องละหมาดและบางส่วนของระเบียงด้านทิศตะวันออกเป็นหลังคาทรงจั่วมุ่งด้วยกระเบื้องว่าวสีเขียว หน้าบันทั้งสองด้านของหลังคาประดับด้วยปูนปั้นซึ่งผสมผสานระหว่างศิลปะไทย ตะวันตก และจีน ภายในห้องห้องละหมาดเป็นที่ตั้งของมิมบัรซึ่งเป็นแท่นยืนแสดงธรรม เป็นขั้นบันไดสำหรับคอเต็บใช้แสดงธรรม และมิห์รอบหรือประชุมทิศซึ่งเป็นซุ้มที่ครอบมิมบัร ในสมัยรัชกาลที่ 6 มิมบัรเก่าในมัสยิดบางหลวงชำรุดลง เจ้าสัวพุกซึ่งเป็นพ่อค้าจีนมุสลิมและเป็นต้นตระกูลพุกภิญโญได้ก่อสร้างมิมบัรและมิห์รอบขึ้นใหม่เป็นซุ้มทรงสามยอด สันนิษฐานว่าถ่ายแบบจากซุ้มพระอุโบสถวัดอนงคารามวรวิหาร โดยซุ้มนี้ก่ออิฐถือปูนปิดทอง ประดับด้วยกระจกหลากสี พร้อมกับได้แกะสลักแผ่นไม้เป็นอักษรอาหรับนูนลอยเป็นพระนามขององค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) และมีโองการที่สำคัญในคัมภีร์อัลกุรอานติดตั้งไว้ภายในซุ้มด้วย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มัสยิดบางหลวงได้รับการทำนุบำรุงเป็นอย่างดีจากผู้นำทางศาสนาและชุมชน การบูรณะอาคาร ครั้งล่าสุด เมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยความร่วมมือร่วมใจของชาวชุมชนกุฎีขาว และนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และความช่วยเหลือด้านงบประมาณจากกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้อาคารหลังนี้ยังคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา

Bang Luang Mosque

Location 802 Soi Mussayid Bang Luang, New Arun Amarin Road, Khwaeng Wat Kanlaya, Khet Thonburi, Bangkok

Proprietor Bang Luang Mosque

Date of Construction King Rama III

Conservation Awarded 2011

History

Bang Luang Mosque is a significant religious monastery of Kudee Khao Community. It is assumed that it was built in the reign of King Rama I by a Muslim merchant named To Yi. The mosque had been restored several times. The present mosque was assumed to be built in the reign of King Rama III because of the architectural style similar to the popular Thai style of the main chapels and the assembly halls in that period. The space and decoration of the mosque have been modified to be appropriate and consistent with the local purpose.

The rectangular building is 12 metres long, 24 metres wide and 16 metres high made of masonry brick in traditional Thai style. The gables are decorated with stucco of tri-ethnic artworks: the traditional motif lining the gable frame, the western foliage motif on the gable panel and the flowers in Chinese floral patterns. The stairs in the North and South lead to the gallery surrounding the prayer room. Inside the prayer room, there is the podium for preaching.

Religious and community leaders have maintained and preserved the Mosque very well. The latest restoration was taken in 2008 with the cooperation of the religious and community leaders including scholars from theHistoricData Center of Thonburi Community with the financial support from the Bangkok Metropolitan Administration.Hence, Bang Luang Mosque is valuable for the national history and architecture.