อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

ค้นหา

อาคาร 1919 วัฒนาวิทยาลัย

อาคาร 1919 วัฒนาวิทยาลัย

ที่ตั้ง เลขที่ 67 ถนนสุขุมวิท 19 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร

สถาปนิก / ผู้ออกแบบ สถาปนิกชาวอเมริกัน

                                  สำรวจและออกแบบการบูรณะอาคาร: บริษัท อินเตอร-คอนซัลท์ จำกัด

ผู้ครอบครอง โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย

ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2462 – 2463

ประวัติ

โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยก่อตั้งเมื่อพุทธศักราช 2417 โดยมิชชันนารีจากประเทศสหรัฐอเมริกา เดิมมีชื่อเรียกว่า โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ตั้งอยู่ที่ท่าวังหลัง เมื่อกิจการของโรงเรียนเจริญขึ้นประกอบกับ โรงพยาบาลศิริราชต้องการซื้อที่ตั้งโรงเรียนเพื่อใช้เป็นที่พักของพยาบาล แหม่มโคล (มิสเอ็ดน่า เซร่ะ โคล) ครูใหญ่ในสมัยนั้นจึงตัดสินใจย้ายโรงเรียนแล้วมาสร้างโรงเรียนใหม่บนพื้นที่ทุ่งบางกะปิซึ่งอยู่ทางตะวันออกของพระนคร และมีคลองแสนแสบไหลผ่านทางด้านเหนือของโรงเรียน โดยมีอาคาร 1919 เป็นอาคารเรียนหลังแรก เริ่มสร้างในพุทธศักราช 2462 และการก่อสร้างแล้วเสร็จในปีถัดมา เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้บุกเข้ามายึดโรงเรียนและได้ใช้อาคาร 1919 เป็นโรงพยาบาลของทหาร เมื่อสิ้นสุดสงครามแล้วโรงเรียนจึงซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานเป็นอาคารเรียนตามเดิม ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาคาร 1919 ได้รับการดัดแปลงแก้ไขบางส่วนหลายครั้ง เช่น มีการเปลี่ยนบันไดขึ้นด้านหน้าจากไม้เป็นคอนกรีต เทพื้นปูนทับบนพื้นไม้บางห้อง และเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาจากกระเบื้องซีเมนต์รูปว่าวเป็นกระเบื้องลอนคู่ เป็นต้น ต่อมาในพุทธศักราช 2554 คณะผู้บริหารได้ตัดสินใจปรับปรุงฟื้นฟูอาคาร 1919 เนื่องจากปัญหาความชื้นในผนัง การทรุดตัวของอาคาร และการผุกร่อนของพื้นไม้ การดำเนินการผ่านขั้นตอนการออกแบบ คัดเลือกผู้รับเหมาจนเริ่มงานได้ในเดือนเมษายน พุทธศักราช 2555 และเสร็จสมบูรณ์ส่งมอบอาคารได้ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2557

อาคาร 1919 เป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นสูงล้อมรอบสนามรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาคารกว้าง 40.4 เมตร ยาว 56.8 เมตร มีห้อง 18 ห้อง และห้องโถง 1 ห้อง ผนังก่ออิฐรับน้ำหนัก โครงสร้างพื้นภายในเป็นคอนกรีตปูทับด้วยพื้นไม้ โครงสร้างพื้นระเบียงทางเดินและชานด้านหน้าเป็นคอนกรีต ปูด้วยกระเบื้องลายไม้ตลอดระเบียงทางเดินภายใน ส่วนชานด้านหน้าปูด้วยกระเบื้องโบราณแบบเดียวกับที่นิยมใช้ในสมัยสร้างอาคาร โครงสร้างหลังคาเป็นไม้มุงด้วยกระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์ไอยร่า จุดเด่นของอาคารคือ บันไดทางขึ้นและชานด้านหน้าเชื่อมมุขปลายทั้งสองข้าง เสาชานด้านหน้าเป็นเสาลอยตัวเรียงเป็นแถวรับจั่วมุขกลางอาคารทำให้อาคารดูโปร่งโล่ง หลังคามุขปลายทั้งสองข้างเป็นหลังคาจั่ว

อาคาร 1919 ได้รับการปรับปรุงฟื้นฟูโดยสามารถรักษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมเดิมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงบางส่วนของอาคารเพื่อให้การใช้งานสะดวกขึ้น เช่น ลดระดับพื้นระเบียงและชานด้านหน้าอาคารลงต่ำกว่าพื้นภายในอาคารเพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าอาคาร รวมทั้งเพิ่มทางลาดด้านหน้าอาคารเพื่อให้ผู้นั่งรถเข็นใช้เข้าอาคารได้สะดวกสบายขึ้น เป็นต้น