ตึกสตางค์
ตึกสตางค์
ที่ตั้ง เลขที่ 15 ถนนกาญจนวณิชย์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
สถาปนิก / ผู้ออกแบบ นายอมร ศรีวงศ์ วิศวกรโครงสร้าง: ดร. รชฏ กาญจนวนิชย์
ผู้ครอบครอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่
ปีที่สร้างเสร็จ พุทธศักราช 2510
ประวัติ
ตึกสตางค์เป็นชื่อเรียกที่รู้จักกันดีของอาคารเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งเป็นคณะแรกที่ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในพุทธศักราช 2510 แต่เดิมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีวิทยาเขตที่ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เพียงแห่งเดียว แต่เนื่องจากเป็นสถานที่ติดทะเลจึงไม่เหมาะที่จะจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพราะไอเค็มทะเลสามารถทำลายอุปกรณ์และเครื่องมือทางด้านวิศวกรรมต่างๆ ให้เสียหายได้โดยง่าย คณะทำงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นำโดย ศ. ดร. สตางค์ มงคลสุข จึงได้ดำเนินการจัดหาสถานที่ตั้งใหม่โดยได้พื้นที่บริเวณ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จากการบริจาคของคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร ช่วงแรกของการก่อตั้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ประกอบด้วย 3 สาขาวิชา คือ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมเครื่องกล ต่อมาจึงขยายตัวเพิ่มเติมสาขาอื่นๆ ได้แก่ วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมเหมืองแร่และวัสดุ
ตึกสตางค์ครอบคลุมพื้นที่กว่า 15 ไร่ โดยพื้นที่ทั้งหมดอยู่ภายใต้หลังคาขนาดมหึมาต่อเนื่องกัน การสร้างอาคารขนาดใหญ่ในช่วงเวลานั้นถือเป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งในด้านการออกแบบและการก่อสร้างเป็นอย่างยิ่ง ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สามารถก่อสร้างได้สำเร็จ คือ จากการใช้ ระบบ modular system เป็นหลักในการออกแบบโดยโครงสร้างในแต่ละส่วนของอาคารรับน้ำหนักอย่างสม่ำเสมอเท่าๆ กัน เสาโครงสร้างคอนกรีตแต่ละต้นที่ตั้งขึ้นไปรับหลังคามีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสทำมุมเอียง 45 องศากับแนวอาคาร โดยเมื่อเสายืดตัวสูงขึ้น ขนาดจะค่อยๆ สอบขึ้นพร้อมๆ กับบิดตัวกลับมาตั้งฉากกับแนวอาคารพอดีที่ปลายเสาจากนั้นระบบโครงสร้างจะเปลี่ยนจากเสาคอนกรีตเป็นโครงหลังคาเหล็กแบบ spaceframe ที่แผ่กิ่งก้านขึ้นไปรับหลังคาโดมคอนกรีตจำนวน 9 ลูก หลังคารูปโดมที่มีขนาดเท่าๆ กันที่ 2.5 x 2.5 เมตรนี้เป็นหน่วยที่เป็นอิสระต่อกัน ทำให้สามารถผลิตด้วยระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปพร้อมติดตั้ง จึงทำให้ประหยัดเวลาการก่อสร้างหน้างานได้เป็นอย่างมาก
ความน่าสนใจของตึกสตางค์ยังมีอีกหลายประการ เช่น โครงสร้างบันไดเวียนที่ห้อยตัวจากหลังคาของหอส่งสัญญาณวิทยุ และโครงสร้างบันไดแบบพับผ้าปราศจากคานของอาคารเรียนรวม เป็นต้น จึงนับเป็นสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์และสุนทรียภาพทางโครงสร้างอาคารอย่างน่าชมที่สุดหลังหนึ่งในประเทศไทย