อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

ค้นหา

อาคารสายสุทธานภดล

อาคารสายสุทธานภดล

ที่ตั้ง เลขที่ 1 ถนนอู่ทองนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

สถาปนิก / ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อ

สถาปนิกผู้บูรณะ: มนสิการ ปานิสวัสดิ์

ผู้ครอบครอง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2462

อาคารสายสุทธานภดล ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นตำหนักที่ประทับของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี เป็นส่วนหนึ่งของเขตพระราชฐานชั้นในซึ่งสงวนไว้สำหรับพระมเหสี พระชายา พระเจ้าลูกเธอ และเจ้าจอมในองค์พระมหากษัตริย์ เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 จึงถือเป็นการสิ้นสุดวิถีชีวิตและประเพณีแบบราชสำนักฝ่ายใน แม้ในปัจจุบันเขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวัง จะยังคงยึดแบบแผนระเบียบปฏิบัติเช่นอดีต แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีเจ้านายฝ่ายในประทับแล้ว อาจเรียกได้ว่า สวนสุนันทา คือ ราชสำนักฝ่ายในยุคสุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปัจจุบัน อาคารหลังนี้ได้รับการปรับปรุงโดยยังคงสภาพเดิมของตำหนักในอดีต แบ่งพื้นที่ใช้งานออกเป็น 2 ส่วนคือ พิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดล จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระประวัติ พระจริยวัตร และพระกรณียกิจของเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์เมื่อครั้งเสด็จประทับในสวนสุนันทา และสำนักงานสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

อาคารสายสุทธานภดล เป็นตำหนักก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่สูง 2 ชั้น มีลักษณะคล้ายเรือนพื้นฐิ่นของยุโรป จุดเด่น คือ หลังคาด้านสกัดที่เป็นจั่วยื่นออกมาจากหลังคาด้านยาวที่เป็นหลังคาปั้นหยา ทั้งหมดมุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์รูปว่าว ผังอาคารมีลักษณะคล้ายอักษรรูปตัวแอล (L) เรียงต่อกัน 2 ตัว แบบขั้นบันไดเหมือนอาคารชุด 2 ชุด ในอดีตอาคารแต่ละชุดประกอบด้วยส่วนพักอาศัยพื้นที่ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นที่ทำงานข้าหลวง ห้องรับแขก ห้องเสวย และบันได ชั้นบนเป็นห้องบรรทม ห้องพระ ห้องสรง และบันได โดยมีบันไดเป็นตัวคั่นส่วนพักอาศัยแต่ละชุด แต่ห้องทั้งหมดก็เชื่อมต่อกันหมดด้วยระเบียงด้านหน้า หน้าต่างเป็นบางกระทุ้งตอนกลางเป็นเกล็ดไม้เปิดถึงพื้น ภายในมีลูกกรงไม้ ใต้ถุนก่อผนังปิดโดยรอบและมีช่องระบายอากาศเป็นระยะ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของการออกแบบและวางแผนผังอาคารอย่างเป็นระเบียบเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทย

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาได้อนุรักษ์อาคารสายสุทธานภดลตามระเบียบกฎหมาย ข้อบังคับ และพระราชบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ซึ่งเป็นหลักการในการอนุรักษ์ที่ปฏิบัติกันเป็นสากล ทำให้สามารถรักษาคุณค่าและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และศิลปกรรมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางทางวัฒนธรรมให้แก่ผู้สนใจได้ศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของศูนย์การราชสำนักฝ่ายใน และสถานที่ประทับของพระมเหสี พระราชธิดา ตลอดจนเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 อีกด้วย