อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

พระราชนิเวศน์มฤคทายวันและบ้านเจ้าพระยารามราฆพ

พระราชนิเวศน์มฤคทายวันและบ้านเจ้าพระยารามราฆพ

ที่ตั้ง  1281  ถนนเพชรเกษม  ตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี 

สถาปนิก/ผู้ออกแบบ  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกแบบวางผัง นาย อี.ฟอร์โน (E.Forno)  และนายแอร์โกเล มันเฟรดี (Ercole Manfredi) ออกแบบรายละเอียด 

ผู้ครอบครอง  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

ปีที่สร้าง  พ.ศ. 2466 – 2467 

ปีที่ได้รับรางวัล  พ.ศ. 2545 

ประวัติ 

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน  สร้างขึ้นโดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เพื่อเป็นที่ประทับระหว่างเสด็จแปรพระราชฐานในช่วงฤดูร้อน  เนื่องจากในช่วงนั้นทรงพระประชวร  แพทย์หลวงจึงถวายคำแนะนำให้เสด็จไปประทับ ณ สถานที่ตากอากาศชายทะเล  ดังนั้นจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายอี.ฟอร์โน (E. Forno)และนายแอร์โกเล  มันเฟรดี (Ercole  Manfredi)  สถาปนิกชาวอิตาลีออกแบบตามแนวความคิดของพระองค์ท่าน ซึ่งได้ทรงร่างแผนผังด้วยพระองค์เอง พระราชทานให้สถาปนิกนำไปออกแบบรายละเอียด  และได้ดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2466 – 2467 

พระราชนิเวศน์แห่งนี้ ประกอบด้วยพระที่นั่ง 3 หมู่  ได้แก่  หมู่พระที่นั่งสมุทรพิมาน เป็นส่วนของฝ่ายในตั้งอยู่ทางทิศใต้  หมู่พระที่นั่งพิศาลสาคร เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ ณ ส่วนกลาง  และสโมสรเสวกามาตย์ เป็นอาคารโถง มี 2 ชั้น ใช้เป็นโรงละครและท้องพระโรง  พระที่นั่งเหล่านี้เชื่อมต่อถึงกันด้วยสะพานไม้มีหลังคาคลุม  สำหรับตัวอาคารเป็นอาคารยกพื้นสูง สร้างด้วยไม้สักทอง ตอม่อเป็นเสาคอนกรีต หลังคามุงกระเบื้องว่าว  โดยรวมมีลักษณะโปร่ง เบา เหมาะกับภูมิอากาศ  และบรรยากาศของชายทะเล 

ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของพระราชนิเวศน์ฯ  คือมีการออกแบบเพื่อกันมด เพราะบริเวณนี้มีมดดำชุกชุม สถาปนิกจึงได้ออกแบบให้ที่โคนเสาทุกต้นและที่แนวผนังส่วนที่ติดพื้นดินทำเป็นขอบปูนยกสูงขึ้นโดยรอบ เพื่อเป็นที่ใส่น้ำกันมดขึ้นอาคารดังกล่าว 

อาคารอีกหลังหนึ่งที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับพระราชนิเวศมฤคทายวัน  คือบ้านเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟื้อ  พึ่งบุญ)  ซึ่งดำรงตำแหน่งสมุหราชองครักษ์และมหาดเล็กหัวหน้าห้องพระบรรทม  ลักษณะเป็นอาคาร ยกพื้นสูงมีระเบียงกว้าง  ผนังก่ออิฐโชว์แนว  อาคารนี้แยกออกไปจากบริเวณพระราชนิเวศน์ฯ แต่สามารถมองเห็นกันได้ และติดต่อกันโดยใช้สัญญาโคมไฟสี  ซึ่งชักบนเสาเหนือศาลาลงสรง  ถ้าเป็นไฟสีเหลืองหมายความว่ากำลังแต่งพระองค์  ถ้าเป็นไฟสีเขียวหมายถึงเสด็จเข้าโต๊ะเสวยพระกระยาหารค่ำแล้ว 

ปัจจุบัน พระราชนิเวศน์มฤคทายวันได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ในความดูแลของกองกำกับการ 1  กองบังคับการฝึกพิเศษของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

Maruekhathayawan Palace 

Location 1281 Petchakasem Road, Tambon Haui Sai Nuea, Amphoe Cha-am, Petchaburi Province 

Architect/Designer King Rama VI: lay out and conceptual design 

Mr. E. Forno and Mr. Ercole Manfredi: detail design 

Proprietor Royal Thai Police 

Date of Construction 1923 - 1924 AD. 

Conservation Awarded 2002 AD. 

History 

Maruekhathayawan Palace was built as a summer palace of King Rama VI who, at that time, had a health problem thus the doctor advised that he should stay in a seaside resort for better environment and fresh air. The King thus commissioned Mr.E Forno and Mr.Ercole Manfredi, Italian architects to design the palace bassed on his lay out the conceptual plan. The construction was carried out durineg 1923 – 1924. 

This palace comprises 3 groups of pavilions, namely, Samutharaphiman,the ladies’ quarter, Phisansakhon, the King’ quarter, and Samoson Sewakamat, the theatre and thorne hall. These pavilions are connected by covered wooden bridges. As for the buildings, they are built of wood, elevated on ferro concrete posts, roofed woth cement roof tiles. The overall atmosphere is lofty, and comfortable, suitable for the seaside environment. 

Another special feature of the buildings is the design for ant protection by surrounding every part that touch the ground, i.e post bases, wall bases with a small pool that when filled up with water, could effecrively prevent the ants from climbing up the building. 

Another important building in neigbouring area, contemporary to the palace, is Chao Phraya Ramrakhob House that the King and the Royal Page of the Bed. The house is raised floor with a wide deck, exposed brick masonry walls and wooden structure. 

At present, Maruekhathayawan Palace is open as a museum in care of the Border Patrol Police Bureau, who collaborated with the Fine Arts Department on restoration of the palace in 1983.