อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

อาคารฟองหลี

อาคารฟองหลี

ที่ตั้ง ตำบลสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง  

สถาปนิก / ผู้ออกแบบ เจ้าสัวฟอง ผู้ออกแบบอนุรักษ์ กิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล และบริษัท คอมโพซิชั่น เอ จำกัด 

ผู้ครอบครอง กิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล และทายาทตระกูล สุรวิชัย 

ปีที่สร้าง พ.ศ. 2434 – 2444 

ปีที่ได้รับรางวัล พ.ศ. 2551 

ประวัติ 

อาคารฟองหลีสร้างโดย จีนฟอง หรือเจ้าสัวฟอง ผู้ซึ่งได้รับสัมปทานป่าไม้ ทั้งยังเป็นเจ้าภาษีนายอากรฝิ่นและสุรา ของเมืองลำปาง นับเป็นชาวจีนที่มีฐานะดีที่สุด เจ้าสัวฟองยังสนิทสนมกับเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์สุดท้ายซึ่งได้ตั้งนามสกุลให้เจ้าสัวฟองว่า ฟองอาภา หลังจากเจ้าสัวฟองถึงแก่กรรม อาคารฟองหลีได้ตกทอดสู่ทายาทและมีการเปลี่ยนผู้ครอบครองหลายครั้ง จนกระทั่งได้ตกทอดมาถึงทายาทของนางคำใส เฮวอิน ซึ่งได้ให้เช่าอาคารหลังนี้อยู่อาศัยหลายปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 หน้าจั่วด้านทิศตะวันตกพังทลายลงมา ทางจังหวัดจึงได้มีหนังสือเตือนให้ซ่อมแซม และในที่สุดก็มีคำสั่งรื้อถอนภายใน 7 วันแม้ว่าเจ้าของอาคารในขณะนั้นมีความคิดที่จะอนุรักษ์อาคารแห่งนี้ไว้ แต่ต้องใช้ทุนทรัพย์จำนวนมากในการบูรณะ ต่อมาคุณกิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล และทายาทตระกูลสุรวิชัย ได้ซื้ออาคารหลังนี้และได้ทำการบูรณะอาคารตามหลักวิชาการ เพื่อให้อาคารมีสภาพสมบูรณ์ดังเดิม ในระหว่างการบูรณะในปี พ.ศ. 2538 ได้พบตราของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาบนหัวเสาไม้ของอาคาร ซึ่งบริษัทดังกล่าวเข้ามาตั้งสาขาในจังหวัดลำปางเมื่อปี พ.ศ.2434 ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่าอาคารฟองหลีน่าจะถูกสร้างขึ้นช่วงปี พ.ศ. 2434 – 2444 

อาคารฟองหลีเป็นอาคาร 2 ชั้น ยกพื้นสูงจากถนนประมาณ 1 เมตร กว้าง 16 เมตร ลึก 10 เมตร หลังคาจั่วตัดขวางแบบจีนผนังอาคารเป็นแบบผนังก่ออิฐรับน้ำหนักหนา 40 เซนติเมตร มีการเสริมบัวหงายแบบตะวันตกคาดระหว่างชั้นบนและชั้นล่างอาคารขอบหน้าต่างมีการทำคิ้วก่อบัวเป็นลายปูนปั้นแบบตะวันตกไว้เหนือหน้าต่างเพื่อกันน้ำฝนหยดย้อย หน้าต่าง มีบานเกล็ดไม่ให้ลมเข้า โดยสามารถเปิดบานกระทุ้งหรือเปิดได้ตลอดแนวเหมือนบานประตู มีการใช้บานพับ กลอน และเหล็กเส้นกับประตูหน้าต่าง ส่วนการยึดไม้ใช้ระบบเดือยและสลัก ชั้นล่างเป็นห้องโล่ง ส่วนชั้นบนเป็นห้องนอนพร้อมกับมีระเบียงทางด้านหน้า จุดเด่นของอาคาร คือ ราวระเบียงและชายคาด้านหน้าตกแต่งด้วยไม้สักฉลุลายโปร่ง เสาไม้รับระเบียง 5 ต้น มีลักษณะศิลปะแบบตะวันตก บานประตูชั้นบนและชั้นล่างเป็นบานเฟี้ยมลูกฟักไม้สักแบบจีน เหนือประตูบานเฟี้ยมทางเข้าอาคารชั้นล่างเป็นกรอบรูปครึ่งวงกลม ภายในกรอบแบ่งเป็น 7 ช่อง แต่ละช่องประดับด้วยไม้ฉลุลวดลายพรรณพฤกษา ค้ำยันระหว่างพื้นชั้น 2 และเสาไม้รับระเบียงด้านหน้าฉลุประดับตกแต่งเสาเม็ดเล็กๆ ทแยงมุม 

อาคารฟองหลีถือเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมในยุครุ่งเรืองของจังหวัดลำปางที่มีการผสมผสานระหว่างศิลปะตะวันตกและตะวันออกได้อย่างน่าชื่นชม และเป็นอาคารที่สามารถรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรม ได้เป็นอย่างดี  

 

Fong-LEE Building 

Location Tambon Suandok, Amphoe Mueang. Lampang Province 

Architect / Designer Chausua Fong Lee 

Conservation Designer Kittisak  Hengsadekul and Composition A Co., Ltd. 

Proprietor Kittisak  Hengsadekul  and  Surachai family

Date of Construction 1891 - 1901 

Conservation Awarded 2008 

History 

Fong-Lee Building is regarded as an example of architectures in flourishing period of Lampang. The founder of this architecture was a wealthy Chinese merchant called “Jeanfong” who was a close friend of Chao Bunwahtwongmanit, the last ruler of Lampang. His last name is “Fong Ahpah”. After his death, his children inherited the business and went by the name “Fong-Lee Company”. However, the company has changed hands several times. Eventually, the building fell into the hands of Mr. Kittisak Hengsadeekul and Surachai family. In year 1995, during the renovation, the seal of Bombay Burma, who operated in Lampang, during 1891 – 1892, was found on the top of the column. It can be assumed that the building was built during the period. 

“Fong-Lee Building” is a row building with 2 storey. It was built from bricks masonry and wood. It is decorated with Kanompangking pattern. Its gable was made in Chinese style. The second floor consists of a bedroom and front veranda. Furthermore, doors on both floor include hinges and folding panels made from Chinese teak. There are air windows carved in a shape of flowers above the doors. The hinges, bolts and steel rods used with doors and windows are regarded as the first use in the reigh of King Rama V.