โฮงเจ้าฟองคำ
โฮงเจ้าฟองคำ
ที่ตั้ง เลขที่ 8 ถนนสุมนเทวราช ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
สถาปนิก / ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ
ผู้ครอบครอง รศ. มณฑล คงกระจ่าง นางภัทราภรณ์ ปราบริปู และนางวิสิฎศรี โมนาแซน
ดูแลโดย: นางภัทรภรณ์ (บุตรีของเจ้าฟองคำ)
ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2467
ประวัติ
โฮงเจ้าฟองคำ (โฮง เป็นคำพื้นเมืองน่าน หมายถึง บ้านหลังใหญ่) ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งแต่เดิม คือ คุ้มของเจ้าศรีตุมมา (หลานเจ้ามหาวงศ์เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 6) และอยู่ติดกับคุ้มแก้วซึ่งเป็นที่พำนักของเจ้าผู้ครองนครน่านในเวียงเหนือ เมื่อเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ (เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 12) ย้ายกลับมายังเมืองน่านปัจจุบัน คุ้มแก้วจึงถูกทิ้งร้างไป หลังจากนั้น เจ้าบุญยืน (ธิดาคนสุดท้ายของเจ้าศรีตุมมากับเจ้ามะโน (หลานของเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ) ได้ย้ายตัวโฮงลงมาสร้างในพื้นที่คุ้มของเจ้าศรีตุมมา หลังจากนั้นบ้านหลังนี้ได้ตกทอดมายังเจ้าฟองคำ (ธิดาของเจ้าบุญยืนกับเจ้าอินต๊ะ) นางวิสิฐศรี (ธิดาคนสุดท้องของเจ้าฟองคำ) และนายมณฑล คงกระจ่าง ตามลำดับ
โฮงเจ้าฟองคำเป็นบ้านไม้สักยกใต้ถุนสูง รูปแบบล้านนาโบราณ หลังคาทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินขอ ประกอบด้วยเรือน 4 หลัง ทั้งหมดเชื่อมต่อกันด้วยนอกชานและทางเดิน บันไดทางขึ้นบ้านอยู่ด้านหน้ามีหลังคาคลุม สำหรับไม้สักที่ใช้สร้างบ้านนั้น ใช้วิธีการผ่าและซ้อมถากด้วยขวานและมีด การประกอบตัวบ้านจึงไม่ได้ใช้ตะปู แต่จะใช้วิธีเจาะไม้และเข้าไม้โดยใช้สลักไม้ พื้นที่ชั้นบนเป็นที่พักอาศัย และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจัดแสดงวิถีชีวิตในอดีตและของโบราณที่มีคุณค่า เช่น เครื่องเงิน และผ้าทอ เป็นต้น พื้นที่ชั้นล่างเป็นใต้ถุนโล่งสำหรับสาธิตการทอผ้า ตั้งกี่ทอผ้า และจำหน่ายผ้าพื้นเมืองที่ทอที่บ้านหลังนี้ บริเวณหน้าบ้านมีบ่อน้ำ โดยรอบบ้านร่มรื่นด้วยต้นไม้นานชนิด
โฮงเจ้าฟองคำเป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์บ้านไม้เก่าด้วยการปรับเปลี่ยนการใช้สอยให้เหมาะสมกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีชีวิตซึ่งมีส่วนช่วยรักษามรดกวัฒนธรรมของชาวน่านโดยเฉพาะการทอผ้าพื้นเมืองไว้ได้อย่างน่าชื่นชม