อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

ค้นหา

กุฏิไม้ วัดศรีมณฑา

กุฏิไม้ วัดศรีมณฑา

ที่ตั้ง บ้านคำฮี ตำบลโพนทราย อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร 

สถาปนิก / ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ 

สถาปนิกผู้บูรณะ: สถาปนิก สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี 

ผู้ครอบครอง วัดศรีมณฑา 

ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2476 

ประวัติ 

วัดศรีมณฑา สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศักราช 2432 โดยกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ที่บ้านคำฮีซึ่งเป็นชนชาวเผ่าลาว อีสาน และหมู่บ้านใกล้เคียงในอาณาเขตเมืองมุกดาหาร เป็นวัดขนาดเล็ก มีเนื้อที่ดิน 4 ไร่ 2 งาน 10 ตารางวา เดิมชื่อ วัดมุนทา (ภาษาท้องถิ่นในยุคนั้น) ต่อมาเพื่อความเป็นสิริมงคลจึงได้เพิ่ม คำว่า ศรี นำหน้า และเปลี่ยน น เป็น ณ เปลี่ยน ท เป็น ฑ ลบสระ อุ ตามหลักภาษา จึงมีชื่อว่า วัดศรีมณฑา จนกระทั่งทุกวันนี้ แต่ชาวบ้านในชุมชนบางส่วนยังรู้จักชื่อ วัดศรีมุณฑา ตามข้อสันนิษฐานชื่อวัดศรีมณฑาน่าจะหมายถึง ดอกมณฑาหรืออาจเป็นนางมณฑาในวรรณคดีวันสงกรานต์ ส่วนกุฏิไม้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2476 ซึ่งกุฏิหลังนี้เป็นที่จำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์มาโดยตลอดจนถึงเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน คือ พระอธิการสุเทพ อภิญาโน โดยระหว่างพุทธศักราช 2518 – 2519 ชาวบ้านคำฮีได้ร่วมกันบูรณะซ่อมแซม 1 ครั้ง และต่อมาเมื่อพุทธศักราช 2556 – 2557 สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี เข้าดำเนินบูรณะซ่อมแซมจนแล้วเสร็จ โดยมีการเสริมความมั่นคงฐานเสา และเปลี่ยนไม้เสาบางต้นที่ชำรุด รื้อส่วนที่ต่อเติมภายหลังออก เปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาใหม่ทั้งหมดด้วยไม้แป้นเกล็ดขนาดเท่าของเดิมตอกสลักเดือยรองด้วยสังกะสีแผ่นเรียบซ่อนไว้ใต้แป้นไม้กันรั่วซึม เปลี่ยนไม้ปั้นลมแกะสลักใหม่โดยกระสวนลวดลายจากของเดิมที่ยังเหลือ ส่วนหางหงส์ และโหง่ว ทำขึ้นใหม่โดยอ้างอิงจากศาลาการเปรียญเพื่อครบองค์ประกอบที่สมบูรณ์ และอนุรักษ์ซ่อมแซมภาพจิตรกรรมหน้าจั่ว 

กุฏิ วัดศรีมณฑา เป็นกุฏิเดี่ยวใต้ถุนสูง ก่อสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง เสาไม้ถากรวม 45 ต้น ฝาผนังไม้ตีทับเกล็ดแนวนอน โครงสร้างเครื่องหลังคาเข้าสลักเดือยไม้ หลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ด รางรับน้ำฝนภายในกุฏิทำด้วยไม้ขุดร่อง ผังพื้นกุฏิคล้ายเป็นอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกัน แบ่งการใช้ประโยชน์ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนเรือนชาน โถง และห้องนอน ส่วนที่เป็นเรือนชานหรือระเบียงไม่มีผนัง มีบันไดขึ้นอาคาร 1 ด้าน หลังคาด้านหน้าทรงจั่วด้านหลังเป็นปั้นหยา เชื่อมต่อไปยังเรือนใหญ่ซึ่งเป็นส่วนโถงมีรูปแบบหลังคาทรงจั่วลักษณะเป็นตรีมุขตกแต่งด้วยชุดไม้ปั้นลม ช่อฟ้า และหางหงส์ แกะสลักลวดลายสวยงาม ที่หน้าจั่วของแต่ละมุขมีภาพจิตรกรรม เขียนเป็นรูปพญาครุฑ เทพพนม กินรี ลายเครือเถา ประจำยาม ลายพานพุ่มดอกไม้ และรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น ค้างคาว กระต่าย และต่อจากส่วนโถงไปด้านหลังของอาคารเป็นห้องนอน 2 ห้องหลังคาทรงปั้นหยา 

กุฏิ วัดศรีมณฑา เป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ที่สามารถรักษาความแท้ในด้านรูปแบบ วัสดุ ฝีมือช่างและเทคนิควิธีการก่อสร้าง รวมทั้งสภาพโดยรอบไว้ได้เป็นอย่างดี ถือเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของจังหวัดมุกดาหารที่สะท้อนความเสื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาของพระ และชาวบ้านจากอดีตจนปัจจุบันได้เป็นอย่างดี