อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

ศาลเจ้าเกียนอันเกง

ศาลเจ้าเกียนอันเกง

 ที่ตั้ง แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ

 ผู้ครอบครอง บุศย์ - พิสิฏฐพล สิมะสเถียร

 ปีที่สร้าง สมัยรัชกาลที่ 3

 ปีที่ได้รับรางวัล พ.ศ. 2551

 ประวัติ

 ตามคำบอกเล่า กล่าวกันว่า มีศาลเจ้าจีน 2 หลัง เดิมสร้างขึ้นโดยคนจีนที่ตามเสด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ปากคลองบางหลวง หรือคลองบางกอกใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อคราวที่พระองค์ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1ทรงย้ายพระนครหลวงมาตั้งยังฝั่งพระนคร คนจีนเหล่านี้ก็ได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ฝั่งพระนคร ศาลเจ้าที่สร้างไว้ ทั้งสองศาลก็ถูกทอดทิ้งให้ชำรุดทรุดโทรม ครั้นเมื่อเจ้าพระยานิกรบดินทร หรือ เจ้าสัวโต ต้นสกุลกัลยาณมิตร อุทิศที่บ้านกับซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อสร้างวัดกัลยาณมิตร เมื่อปี พ.ศ. 2368 ได้มีชาวจีนจากมณฑลฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของสกุลตันติเวชกุล และสกุลสิมะเสถียร เดินทางมากราบไหว้ที่ศาลเจ้าทั้งสองนี้ และร่วมกันรื้อศาลเจ้าทั้งสอง แล้วสร้างศาลเจ้าใหม่ เพื่อประดิษฐาน องค์พระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม และเรียกชื่อศาลเจ้าแห่งนี้สืบมาจนปัจจุบันว่า ศาลเจ้าเกียนอันเกง นอกจากนั้นความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของศาลเจ้าแห่งนี้ กล่าวคือ เดิมที่ตั้งวัดกัลยาณมิตรนี้เรียกว่า บ้านกุฎีจีน บ้านกุฎีจีนนี้น่าจะมีความหมายถึง ศาลเจ้าเกียนอันเกงนี้เอง ดังปรากฏหลักฐานสำเนาประกาศ พระบรมราชปรารภและพระบรมราชูทิศ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในงานฉลองหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ ความว่า เดิมที่วัดกัลยาณมิตรนี้เป็นบ้านกุฎีจีน

 ศาลเจ้าเกียนอันเกง เป็นกลุ่มอาคารก่ออิฐถือปูนผสมด้วยส่วนประกอบไม้ มีชั้นเดียว รูปแบบสถาปัตยกรรมจีน พื้นถิ่นในสมัยราชวงศ์ชิง หลังคาจั่วโค้งซ้อนชั้น มุงด้วยกระเบื้อง ภายในประดับภาพจิตรกรรมฝาผนัง ปูนปั้น และเครื่องไม้แกะสลักที่มีความสวยงามละเอียดลออ

 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศาลเจ้าเกียนอันเกงยังคงเป็นศรัทธาสถานของชาวย่านกุฎีจีน และได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี สามารถรักษาองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้ได้ นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2550 – 5 มกราคม พ.ศ. 2551 กรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ได้จัดทำโครงการ ASA VERNADOC โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว เป็นประธานโครงการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการสำรวจ รังวัด และเขียนแบบสภาพปัจจุบันของศาลเจ้าเกียนอันเกง สำหรับข้อมูลที่ได้จากการทำงานได้นำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของศาลเจ้าแห่งนี้

 The Shrines of Kian An Keng

 Location Wat Kanlaya , Khet Thonburi , Bangkok

 Proprietor But & Phisitthapon Simasatian

 Date of Construction During the reign of King Rama III

 Conservation Awarded 2008

 History

 It is believed that two shrines were built by King Taksin Maharat’s Chinese entourage who had settled in Bangluang Canal or eastern Bangkok Yai canal while his majesty established Thonburi as the capital. However, King Rama I moved the capital to Phra Nakhon and those Chineses then relocated to Phra Nakhon as well. Both shrines hence were abandoned and become dilapidated. After that Chao Phra Ya Nikonbadin, one of the first ancestors of Kanlayanamit family, donated his property and bought a plot of land to build Kanlayahnamit Temple. In 1825, Hokkien Chineses who were the ancestors of Tantiwetchakun’s and Simasatien’s families came to pay respect to the shrines. They subsequently reconstructed these sanctuaries in style of Chinese architecture and enshrined Guan Yin statue (a bodhisattva) before naming the place “the Shrines of Kian An Keng”

 These shrines were made of brick masonry and wood, single-storey, with double-curved roof as seen from the architecture of Chin Dynasty. Inside of the buildings was decorated with mural paintings, stucco and exquisite wood carvings. The shrines have still been respected and carefully maintained in order to preserve its historical value for future generations.