อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

ค้นหา

วิหารวัดพันเตา

วิหารวัดพันเตา

 ที่ตั้งเลขที่ 105 ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

 ผู้ครอบครองวัดพันเตา ปีที่สร้าง พ.ศ. 2419

 ปีที่ได้รับรางวัล พ.ศ. 2551

 ประวัติ

 วัดพันเตาสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.1934 ตั้งอยู่กลางเมืองเชียงใหม่ ส่วนวิหารวัดพันเตานั้น พระเจ้าอินวิชยานนท์ ได้รื้อหอคำหรือคุ้มหลวงของพระเจ้ามโหตรประเทศ (เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในราชวงศ์ทิพจักราธิวงศ์ ลำดับที่ 5) แล้วนำส่วนประกอบต่างๆ ของหอคำมาสร้างเป็นวิหารของวัดพันเตา โดยการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2419 ภายในวิหารมี พระเจ้าปันเต้า (พระเจ้าพันเท่า) ประดิษฐานเป็นองค์พระประธาน ในปี พ.ศ. 2523 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวิหารหลังนี้เป็นโบราณสถานของชาติ

 วิหาร วัดพันเตา เป็นวิหารไม้ขนาดใหญ่แบ่งเป็น 8 ช่วงเสา ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบเชียงแสน จุดเด่นของวิหาร คือ เครื่องบนของวิหารเป็นโครงสร้างม้าต่างไหม ซึ่งยังคงลักษณะความงามของศิลปะล้านนาได้อย่างครบถ้วน ตัวอาคารประกอบด้วยประตูมีทางเข้าออกทั้งหมด 3 ทาง คือ ประตูใหญ่ด้านหน้า ประตูด้านข้างทางด้านทิศเหนืออยู่ค่อนมาทางประตูหน้า และประตูทางทิศใต้อยู่ค่อนไปทางด้านหลังเป็นประตูทางเข้าอาคารของพระสงฆ์ ประตูด้านหน้าที่มีหน้าบันแกะสลักลวดลายเป็นซุ้มคล้ายซุ้มโขง มีอิทธิพลของศิลปกรรมแบบพม่า ลักษณะลวดลายในโครงสามเหลี่ยมตรงกลางเป็น รูปนกยูงยืนเหนือรูปมอม (พาหนะของเทพปัชชุนนะเทพผู้บันดาลให้เกิดฝน) กรอบของรูปวานรแบกตัวลวง 2 ตัวไว้ทั้ง 2 ข้างซึ่งตัวลวงนี้ใช้หางค้ำรูปแบบจำลองปราสาท ส่วนฐานของรูปซุ้มทำเป็นท่อนไม้แปดเหลี่ยม สลักลวดลายประจำยาม ซึ่งทำปลายเสาทั้ง 2 ข้าง เป็นรูปหัวเม็ด โดยมีหงส์ขนาดเล็กยืนประกอบ

 ทั้ง 2 ข้าง สวยงามคล้ายชะโงกลงมาดูที่ประตูด้านล่าง ฝาผนังวิหารวัดพันเตาเป็นฝาลูกฟักไม้ขนาดใหญ่ ใช้เคร่าไม้ตั้งตัวริมยึดกับแนวเสาไม้ ตรงช่วงกลางแบ่งเป็นช่องหน้าต่างบานไม้เปิดเข้าด้านใน กรอบไม้บรรจุลูกกรงมะหวดไม้กลึงเรียงถี่ๆ วางเหนือวงกบ ระดับวงกบสูงต่ำไม่เท่ากันโดยมีจังหวะตามการย่อช่วงแปลนเสาหน้าหลังวิหาร ฝาผนังวิหารไม้เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง ที่ความลงตัวมีวิธีการจัดระเบียบต่างกันที่ขนาดตารางที่เหมาะสมเพื่อยึดลูกฟักแบบแม่สะกน เพื่อให้สัมพันธ์กับระยะแปลนเสาและส่วนระนาบหลังคา นับว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความแท้และงดงามยิ่ง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วิหาร วัดพันเตา ได้รับการบูรณะปรับปรุงเป็นอย่างดี สามารถเป็นสถานศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมของล้านนาได้เป็นอย่างดี 

 Vihara of Wat Pantao

 Location 105 Phra Pokklao Road, Tambon Phra Sing, Amphoe Mueang, Chiang Mai Province

 Proprietor Wat Pantao

 Conservation Awarded 2008

 History

 Wat Pantao was built in 1391. Located in the center of Chiang Mai. Woods and materials from the Royal Residence of Phra Chao Mahotaraprathet (The Fifth Ruler of Chiang Mai) were taken to build the Vihara (The Assembly Hall) by Phra Chao Inwitchayanon.

 An outstanding beauty of the Vihara are the roof members which is representative of Lanna art. The Vihara consists of doors providing 3 entrances and exits. The ornate gable end above the entrance door is curved into the shape of a niche called “Kong” niche. The niche is carved into a triangle structure with a peacock standing above Mom (Thep Patchunna’s vehicule) in the center. Moreover, another frame depicts a monkey carrying two Luang(s) holding a replica of a sanctuary by their tails. The niche has a octagonal wooden base carved into an intermittent quadri-foil design. There are 2 swans covering the top of two pillars of the niche.

 The Vihara was registered as an archaeological site and was published in the Government Gazette, volume 97, section 41 dated 14 March 1980.