อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

ค้นหา

ศาลาพระเกี้ยว

ศาลาพระเกี้ยว

ที่ตั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

สถาปนิก / ผู้ออกแบบ สถาปนิกผู้ออกแบบ: ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรรณ

                                  สถาปนิกผู้บูรณะ: อาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี และคณะ

ผู้ครอบครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2507 – 1 มกราคม พุทธศักราช 2509

ประวัติ

เมื่อพุทธศักราช 2507 ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นว่าจำนวนนิสิตและกิจกรรมของนิสิตมีมากขึ้น ทำให้ตึกจักรพงษ์ซึ่งเป็นที่ทำการของสโมสรนิสิตไม่สามารถรองรับการใช้งานได้เพียงพอ จอมพลประภาส จารุเสถียร ดำรงตำแหน่งอธิการบดีในขณะนั้น จึงดำริจะสร้างอาคารหลังหนึ่งโดยใช้ชื่อว่า ศาลาพระเกี้ยว ขึ้นบริเวณด้านหลังตึกจักพงษ์เพื่อใช้เป็นที่ทำกิจกรรมของนิสิต เช่น งานจุฬาวิชาการ หลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ มีพิธีเปิดใช้อาคารอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พุทธศักราช 2510 จนกระทั่งพุทธศักราช 2522 มีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารครั้งใหญ่เพื่อแก้ไขการทรุดตัวโดยการเสริมฐานรากให้มั่นคงแข็งแรง ต่อมาในพุทธศักราช 2528 มีการรื้อส่วนโถงยาวด้านทิศตะวันตกของศาลาพระเกี้ยว และในพุทธศักราช 2557 มีการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารครั้งใหญ่อีกครั้งทั้งโครงสร้าง งานระบบอาคาร และภูมิทัศน์โดยรอบ เพื่อให้อาคารมีความมั่นคงถาวรและคงความเป็นอาคารอเนกประสงค์ที่สำคัญสำหรับนิสิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน พื้นที่บริเวณห้องโถงและชั้นลอยใช้สำหรับจัดนิทรรศการ จัดประชุม จัดการแสดง จัดเลี้ยง และเป็นที่ชุมนุมสังสรรค์ของอาจารย์ นิสิต และบุคลากร โดยบริเวณส่วนหนึ่งของห้องโถงจะใช้เป็นที่อ่านหนังสือสำหรับนิสิตเมื่อไม่มีการจัดกิจกรรมอื่น ส่วนพื้นที่ชั้นล่างเป็นศูนย์หนังสือ สหกรณ์นิสิต สโมสรอาจารย์ สภาคณาจารย์ และชมรมพฤฒาจารย์ บริเวณพื้นที่ลานจอดรถหน้าศาลาพระเกี้ยว ทุก ๆ วันศุกร์ (หรือตามแต่กรรมการสโมสรอาจารย์เป็นผู้กำหนด) จะจัดเป็นตลาดนัดตั้งแต่เช้าจรดเย็น เรียกกันว่า “ตลาดพิกุล” เนื่องจากพื้นที่นั้นมีต้นพิกุล กิจกรรมดังกล่าวดำเนินการโดยสโมสรอาจารย์

ศาลาพระเกี้ยวมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (modern) โครงสร้างหลักเป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็กรูปหกเหลี่ยม 12 ต้น รองรับโครงสร้างหลังคาจั่วขนาดใหญ่บริเวณโถงกลาง สองข้างหลังคาจั่วใหญ่มีจั่วเล็กด้านละ 5 จั่ว ผนังเอียงสอบทุกด้านทำให้อาคารดูเบาลอย ผนังตอนล่างทำเป็นกระจกบานเลื่อนกว้าง ผนังตอนบนมีหน้าต่างโปร่งสำหรับระบายอากาศ รูปทรงอาคารและปริภูมิ (space) ภายในจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แนวคิดหลักในการออกแบบอาคารนี้ คือ “ศาลา” โดยผสมผสานโครงสร้างสมัยใหม่กับการออกแบบอาคารในเขตร้อนชื้นและวัฒนธรรมพื้นที่อเนกประสงค์อย่างไทยดังที่รองศาสตราจารย์เลิศ อุรัสยะนันทน์ได้บันทึกไว้ว่า “แนวคิดของการใช้ศาลาที่นำมาออกแบบศาลาพระเกี้ยวจึงเป็นหลักใหญ่ เพื่อที่จะสนองความต้องการในการใช้งานของนิสิตที่จะผันแปรไปตามโอกาส อีกทั้งบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องต้องการใช้สถานที่ในกรณียกิจต่างๆ ก็สามารถที่จะสนองได้ ดังที่ปรากฏขึ้นกับศาลาพระเกี้ยว อันออกมาในรูปของการใช้ความสัมพันธ์ของ space กับตัวอาคาร ความโล่งของศาลาพระเกี้ยว ผสมกับการแบ่งห้องออกเฉพาะแห่งเท่าที่จำเป็นทำให้อ่านออกถึงแนวความคิดของการออกแบบอาคารในลักษณะเปิดเผยและตรงไปตรงมา ซึ่งจะก่อให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่จะเกิดแก่มวลนิสิต ทำให้ประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้สำเร็จดังที่ได้ปรากฏมาแล้ว”

ศาลาพระเกี้ยวได้รับการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้สามารถรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และทางสถาปัตยกรรมเอาไว้ได้อย่างน่าชื่นชม นอกจากนี้ยังสามารถรองรับกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ