อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช (เดิม)

โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช (เดิม)

ที่ตั้ง แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร

สถาปนิก/ผู้ออกแบบ อาคารโรงงานของโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ออกแบบโดยพระสาโรชรัตนนิมมานก์

ผู้ครอบครอง กรมธนารักษ์

ปีที่สร้าง พ.ศ. 2475

ปีที่ได้รับรางวัลพ.ศ. 2554

ประวัติ

โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช (เดิม) ตั้งอยู่ริมฝั่งคลองบางลำพู ตรงข้ามกับโรงเรียนวัดสังเวช พื้นที่เดิมของโรงเรียนช่างพิมพ์ วัดสังเวชเป็นบ้านของพระยานรนารถภักดี (เอม ณ มหาไชย) ต่อมาได้ตกเป็นที่ราชพัสดุ และกระทรวงพาณิชย์ได้ขอใช้เป็นที่ เก็บหนังสือ บัญชีและสิ่งของของห้างเยอรมันและออสเตรียในปี พ.ศ.2467 หลังจากนั้นอีกหนึ่งปี กรมตำรากระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบจากกรมตรวจเงินแผ่นดินเพื่อใช้เป็นร้านกลางสำหรับจัดจำหน่ายแบบเรียน จึงดำเนินการรื้อและซ่อมแซมอาคารเดิม ด้านถนนพระสุเมรุ ต่อมาในปี พ.ศ.2475 ได้มีการสร้างโรงงานของโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชขึ้นบริเวณริมถนนซอยเข้าโรงเรียน วัดสังเวช และอาคารโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ด้านถนนพระสุเมรุ เพื่อใช้เป็นโรงเรียนสอนการพิมพ์แห่งแรกของประเทศ โดยนักเรียนที่มาเรียนทั้งภาคทฤษฎี (ภาคเช้า)และรับงานพิมพ์ (ภาคบ่าย) ได้รับค่าจ้างตอบแทน จนกระทั่งหยุดทำการสอนและ รับงานพิมพ์ในปี พ.ศ.2489 หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2493 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุ สังกัดองค์การค้าของคุรุสภา ทำหน้าที่พิมพ์ตำราแบบเรียนต่างๆ ต่อมาในปี พ.ศ.2501 ได้มีการสร้างโรงพิมพ์คุรุสภาขึ้นใหม่ที่ลาดพร้าว จึงย้ายแท่นพิมพ์ไปรวมไว้ ที่ใหม่ทั้งหมด และใช้อาคารโรงพิมพ์เดิมเป็นคลังสินค้าของคุรุสภา จนกระทั่งปี พ.ศ.2538 จึงปิดลง เนื่องจากหมดสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ อาคารทั้งหมดในพื้นที่จึงถูกทิ้งร้างลง ต่อมากรมธนารักษ์ได้เริ่มรื้ออาคารบางหลังลง ทำให้ชาวชุมชนบางลำพูที่เห็นถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมรวมตัวกันเพื่อคัดค้านการรื้ออาคารที่เหลืออยู่จนกระทั่งเกิดการรวมตัวเป็นประชาคมบางลำพู และสามารถผลักดันให้อาคารโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช และอาคารโรงงานของโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรในปี พ.ศ. 2544

อาคารโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชเป็นอาคารสูงสองชั้น ผังพื้นอาคารเป็นรูปตัวแอล (L) ลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบ โมเดิร์น ตัวอาคารและหลังคาเป็นคอนกรีต บานประตู หน้าต่าง บันได และพื้นเป็นไม้สัก ส่วนอาคารโรงงานของโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ซึ่งออกแบบโดยพระสาโรชรัตนนิมมานก์ สถาปนิกสำคัญตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เป็นอาคารไม้สักสองชั้น ทอดตัวยาวริมคลองบางลำพู ผังพื้นอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นล่างใต้ถุนโล่ง โครงเสาเฟอร์โรคอนกรีต ชั้นบนเป็นโครงสร้างไม้ โครงสร้างหลังคาเป็นไม้มุงด้วยกระเบื้อง พื้นที่ระหว่างอาคารทั้งสองหลังเป็นสนามหญ้า

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประชาคมบางลำพูได้ดำเนินการผลักดันให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช (เดิม) แบบมีส่วนร่วมในการวางทิศทางการใช้ประโยชน์อย่างเห็นคุณค่าในฐานะที่เป็นโรงเรียนสอนการพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย

 

Former Wat Sungwej Printing School

Location Kwaeng Chana Songkram, Khet Phra Nakhon, Bangkok

Architect / Designer Phra Saroj Rattananimman

Proprietor Department of the Treasury.

Date of Construction 1932

Conservation Awarded 2011

History

The Former Wat Sungwej Printing School is located on the bank of Banglamphu Canal opposite Wat Sungwej School. The original area of this school was the house of Phraya Noranatpakdi (Aim Na Mahachai) and later is owned by the government. In 1932, the factory building and the school building of Wat Sungwej Printing School were built as Thailand’s first printing school. Students learned theory in the morning and printing in the afternoon, which they also received payment. The school was closed in 1946. Until 1950, the school was changed to Kurusapha Phra Sumeru Printing House to print textbooks for various classes. In 1958, the printing house was moved to a new place on Lad Prow Road. The old one became awarehouse and was closed down in 1995 due to end of the contract with the Department of Treasury. All buildings were deserted. After that, the Department of Treasury started to demolish some buildings so people of Banglamphu Community staged a protest against the demolition for they realized an importance of history and architecture of the two buildings. At last, the buildings have been registered as a historic site by the Department of Fine Arts in 2001.

The school building has two floors in L-shaped design with architectural simplicity. The structure and the roof are made of concrete while the doors, windows, stairs and floors are made of teakwood. The printing building designed by Phra Saroj Rattananimman, a prominent architect since the reign of King Rama VI, is a two storeys building made of teakwood stretching along the Banglamphu Canal. It has a rectangular plan with an open space of the first floor while the second floor is made of teakwood and roofed with tiles.

The building has a very significant history since it was the first printing school so it needs to preserve as a historical building of the nation.