อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

บ้านใบตาล (โตนด)

บ้านใบตาล (โตนด)

ที่ตั้ง  เลขที่ 40 หมู่ 6 ตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

สถาปนิก/ผู้ออกแบบ   -

ผู้ครอบครอง นางสาวอุบล บุญรัตน์

ปีที่สร้าง  ไม่ทราบชัด (อายุประมาณ 100 ปี) ปรับปรุงฟื้นฟูแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2554

ประวัติ

บ้านใบตาลได้ถูกใช้งานต่อกันสามชั่วอายุคนโดยประมาณอายุบ้านมากกว่าหนึ่งร้อยปี บ้านหลังนี้เคยได้รับการซ่อมแซมฝาใบตาลครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณสามสิบปีที่ผ่านมาจึงทำให้บ้านใบตาลผุพังลงตามกาลเวลา ส่งผลต่อคุณภาพการอยู่อาศัย ของเจ้าของบ้าน โดยในหลายครั้งคุณอุบลและญาติพี่น้องร่วมชายคาเคยนึกที่จะรื้อบ้านใบตาลหลังนี้ทิ้ง และนำวัสดุก่อสร้าง ที่พอจะเหลืออยู่มาทำการก่อสร้างเป็นบ้านทรง “ก ไก่”ง่ายๆ แทน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2554 – 2555 คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (อุเทนถวาย) การเคหะแห่งชาติ เจ้าของบ้าน ชาวบ้าน และองค์การบริหารส่วนตำบลรำแดงได้ร่วมกันทำการบูรณะและปรับปรุงฟื้นฟูบ้านใบตาลตามหลักวิชาการ โดยใช้กระบวนการปรับปรุงฟื้นฟูตามหลักการสากล คือ

1. การบันทึกรูปแบบทางสถาปัตยกรรม และวิศวกรรมบ้านใบตาลก่อนการปรับปรุงฟื้นฟู
2. การวิเคราะห์ปัญหาดั้งเดิมของบ้านร่วมกับเจ้าของบ้าน เพื่อออกแบบบ้านที่จะปรับปรุงฟื้นฟูผนวกกับประโยชน์ใช้สอยใหม่เข้าไป เช่น ห้องน้ำ – ส้วม และดำเนินการเขียนแบบก่อสร้าง
3. อบรมเจ้าของบ้านและช่างพื้นบ้านก่อนดำเนินการปรับปรุงฟื้นฟูตามหลักวิชาการโดยเน้นการพึ่งพาตนเอง
4. ถอดบทเรียนสรุปเป็นองค์ความรู้ และจัดทำสื่อเผยแพร่ไว้บริเวณด้านหน้าของบ้านใบตาล และบนเว็บไซต์ บ้านใบตาลเป็นบ้านหลังคาจั่วสองจั่ว เชื่อมเข้าหากันด้วยรางรองน้ำฝนแบบดั้งเดิมในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โครงสร้างทั่วไปเป็นไม้เนื้อแข็ง ฝาผนังทำด้วยใบจากต้นตาลโตนด โครงเคร่าไม้ไผ่ โดยฝาทั้งหมดเอียงสอบเข้าสู่ภายในเล็กน้อย พื้นบ้านใบตาลเป็นพื้นไม้เคี่ยม (ไม้เนื้อแข็งพื้นถิ่น) ใต้ถุนยกสูงวางโครงสร้างบนฐาน (ตีนเสา) ซีเมนต์ อย่างเรือนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาในอดีต ที่ปัจจุบันจะไม่สามารถพบเจอในสภาพที่สมบูรณ์ได้เช่นหลังนี้

ด้วยกระบวนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบทำให้ชาวบ้านบริเวณรอบๆ ที่ทราบข่าว รวมถึงหน่วยงานราชการ และสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้แบบปฏิบัติการณ์จริง จนทำให้บ้านหลังนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ยังใช้งานได้ตามวิถีปัจจุบัน ส่งผลต่อความภาคภูมิใจต่อเจ้าของบ้าน และชุมชนรำแดง ตลอดจนเป็นการยกระดับทัศนคติของชาวบ้านให้คิดว่าบ้านพื้นถิ่นดั้งเดิมเป็นที่อยู่อาศัยที่มีคุณค่า มีความงาม และสามารถอาศัยประโยชน์จากพืชพรรณธรรมชาติ เช่น ใบตาล