อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

มัสยิดบางอ้อ

มัสยิดบางอ้อ

ที่ตั้ง เลขที่ 143 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 86 แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 

สถาปนิก / ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ 

ก่อสร้างโดยช่างชาวจีน 

ผู้ครอบครอง มัสยิดบางอ้อ 

ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2462 

ประวัติ 

ชุมชนมัสยิดบางอ้อสร้างโดยสัปบุรุษในชุมชนมัสยิดบางอ้อซึ่งเป็นพ่อค้าชาวมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซียที่อพยพมาจากอยุธยาเมื่อครั้งเสียกรุง และมาตั้งถิ่นฐานบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของ "แขกแพ" ต่อมาจึงขยับขยายขึ้นมาสร้างบ้านเรือนและมัสยิดบนที่ดินริมแม่น้ำจนเติบโตเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในการเดินเรือและการค้าไม้ โดยในอดีตจะใช้แพเป็นศาสนสถานจนเมื่อเวลาผ่านไปผู้คนมากขึ้นจึงได้ขยับขยายสร้างมัสยิดบนพื้นดินเป็นอาคารไม้ทรงสี่เหลี่ยมขนาดพอๆ กับเรือนแพ หลังจากนั้นในระหว่างพุทธศักราช 2448 – 2458 ได้มีการสร้างมัสยิดถาวรขึ้นเป็นอาคารไม้ทรงปั้นหยาที่ใหญ่กว่าเดิมเพื่อใช้เป็นที่ละหมาดและศึกษาคัมภีร์อัลกุรอาน จนกระทั่งในพุทธศักราช 2462 จึงได้สร้างอาคารมัสยิดหลังปัจจุบันขึ้น นอกจากนี้บริเวณโดยรอบมัสยิดยังมีอาคารเรียนเก่าชื่อ เจริญวิทยาคาร เป็นอาคารไม้แบบเรือนขนมปังขิง อาคารอเนกประสงค์ ศาลาริมน้ำ และกุโบร์หรือสุสานมุสลิม 

มัสยิดบางอ้อเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวกว้าง 12 เมตร ยาว 24 เมตร ลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบอิสลาม หลังคาเป็นทรงปั้นหยามีชายคาเป็นหลังคาคอนกรีตแบนและมีลูกกรงระเบียงที่มีลวดลายปูนปั้นและเครื่องประดับโดยรอบหลังคา มุขด้านหน้ามีลวดลายปูนปั้นจารึกคำปฏิญาณตนของมุสลิมว่า "ลาอิลา ฮะอิล ลัลเลาะห์มูฮ้าหมัด รอซูล ลุลเลาะห์" พร้อมจารึก บ่าว ผู้ภักดี และวัน เดือน ปี ที่เริ่มใช้มัสยิดหลังนี้ในพุทธศักราช 2462 ตรงกับปฏิทิน อิสลาม ฮ.ศ.1339 มีหอคอยหลังคาทรงโดมขนาบทั้งสองข้างทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ประตูและหน้าเป็นไม้ ช่องลมเหนือประตูและช่องหน้าต่างเป็นปูนปั้นทรงโค้งแบบยุโรป 

มัสยิดบางอ้อได้รับการทำนุบำรุงเป็นอย่างดีจากผู้นำทางศาสนาและชุมชนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การบูรณะอาคารครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2555 – 2556 ภายหลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยใช้วิธีดีดยกอาคารและปรับปรุงซ่อมแซมส่วนประกอบต่างๆ ของอาคาร ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวชุมชน นักวิชาการ และความช่วยเหลือด้านงบประมาณจากสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ส่งผลให้การบูรณะอาคารเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา