อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

อุโบสถพื้นถิ่น วัดหลักศิลา

อุโบสถพื้นถิ่น วัดหลักศิลา

ที่ตั้ง บ้านหินตั้ง หมู่ 11 ตำบลหนองแวง อำเภอบ้านใหม่ชัยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ 

สถาปนิก / ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ 

สถาปนิกผู้บูรณะ: สถาปนิก กรมศิลปากร 

ผู้ครอบครอง วัดหลักศิลา 

ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2460 

ประวัติ 

วัดหลักศิลาเป็นศูนย์กลางของชุมชนบ้านหินตั้งซึ่งชาวบ้านดั้งเดิมในชุมชนย้ายมาจากอำเภอพนมไพร และอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อเดินทางมาเห็นความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่บริเวณนี้จึงชวนกันตั้งหลักปักฐานร่วมกันสร้างบ้านเรือน วัดหลักศิลาก่อตั้งเมื่อพุทธศักราช 2460 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อพุทธศักราช 2466 มีอุโบสถพื้นถิ่นเป็นสถานที่การประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาเรื่อยมา ต่อมาภายหลังอาคารมีสภาพทรุดโทรมลงตามกาลเวลา และเมื่อพุทธศักราช 2555 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและทำการซ่อมแซมตามหลักวิชาการอนุรักษ์ โดยเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา เสริมความแข็งแรงของผนัง เทพื้นและทำท่อระบายน้ำรอบอาคาร โดยได้งบประมาณสนับสนุนจากชุมชนจนแล้วเสร็จ 

อุโบสถพื้นถิ่น วัดหลักศิลา เป็นอุโบสถแบบทรงโรงมีเสาร่วมใน ขนาด 3 ห้อง และมีเรือนขวางที่ด้านหน้า ขนาด 1 ห้อง กว้างประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ 6 เมตร ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ระดับพื้นยกสูงกว่าระดับดินเดิม 0.30 เมตร ภายในอุโบสถพื้นถิ่นมีผังพื้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้างประมาณ 6 เมตร ยาวประมาณ 9.90 เมตร เสาทั้งหมดทำจากไม้มะค่าแต้ หน้าตัดเสาประมาณ 20x20 เซนติเมตร มีเสาร่วมใน จำนวน 4 ต้น เสาทั้งหมดจำนวน 20 ต้น ผนังอาคารใช้การก่ออิฐดินดิบฉาบปูนหนา 25 เซนติเมตร ส่วนเรือนขวางผนังหนา 45 เซนติเมตร เจาะช่องหน้าต่างข้างละ 3 ช่อง เขียนซุ้มโค้งเหนือช่องหน้าต่างเป็นลวดลาย ด้านหน้าประตูทางเข้าทำเป็น ซุ้มประตูโค้ง ที่เชิงผนังด้านหน้าและด้านข้างทั้งด้านนอกและด้านในเจาะเป็นช่องประทีป ผนังด้านนอกทางทิศตะวันตก เขียนฮูปแต้มเป็นภาพช้าง หลังคาเป็นทรงปั้นหยา ซ้อนลดหลั่นเป็น 3 ชั้น มุงด้วยแผ่นสังกะสี ส่วนประดับหลังคาตกแต่งด้วยยอดหลังคา หลังคาเรือนขวางเป็นทรงจั่วมีมุขหน้า มีรางน้ำระหว่างตรงกลางระหว่างหลังคาเรือนขวางกับโถง จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชนว่าช่างชาวกุลาเป็นช่างก่อสร้าง จึงน่าได้อิทธิพลศิลปะของพม่า ความสูงของอาคารจากระดับพื้นภายในอาคารถึงระดับหลังอกไก่ ประมาณ 5.90 เมตร ภายในเป็นโถงโล่งพื้นซีเมนต์ มีฐานชุกชีรองรับพระพุทธรูปสร้างจากไม้ประดู่ตามแบบอย่างศิลปะไทลาว หน้าตักประมาณ 72 นิ้ว สภาพอาคารในปัจจุบันยังคงความสมบูรณ์ตามลักษณะดั้งเดิม เพียงแต่ สีของฮูปแต้ม หรือภาพจิตรกรรมฝาผนังภายนอกอาคารมีสีที่ซีดจางลง และยังคงใช้ประกอบสังฆกรรม 

อุโบสถพื้นถิ่น วัดหลักศิลา เป็นเสมือนเครื่องบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนถึงความผูกพันและวัฒนธรรมท้องถิ่น ความสืบเนื่องของวิถีชีวิตคนบ้านหินตั้งที่มีต่อพุทธศาสนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ด้วยรูปทรงของอาคารที่มีสัดส่วนสวยงามแสดงถึงฝีมือเชิงช่างสถาปัตยกรรม วิศวกรรม การตกแต่งด้วย ฮูปแต้ม และพุทธศิลป์ที่มีความงามทางศิลปกรรมสุนทรียภาพแบบศิลปะชาวบ้าน จึงสามารถใช้เป็นแบบอย่างในการศึกษาทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ได้รับอิทธิพลพม่าบนถิ่นอีสานได้เป็นอย่างดี