อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

ศาลาเรียนวัดคูเต่า

ศาลาเรียนวัดคูเต่า

ที่ตั้งวัดคูเต่า เลขที่ 1 บ้านหัวนอนวัด ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา

ผู้ครอบครอง วัดคูเต่า

ปีที่สร้าง ก่อน พ.ศ.2459

ปีที่ได้รับรางวัล พ.ศ. 2554

ประวัติ

ศาลาเรียนวัดคูเต่า ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศาลาวัดในระยะแรก  ต่อมา หลวงพ่อหอม ปุญญมาโนเจ้าอาวาสวัด ในขณะนั้นได้ปรับปรุงเป็นอาคารเรียนประจำตำบล  มีการสร้างฝาไม้ไผ่ที่สามารถเปิดออกได้เหมือนบานกระทุ้งโดยรอบศาลาเว้นไว้เฉพาะบริเวณทางขึ้นศาลา ภายในแบ่งเป็นห้องเรียน 2 ห้อง โดยแต่ละห้องมีนักเรียนประมาณ 20 - 30 คน ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่เฟื่องฟูที่สุดของวัดคูเต่าเนื่องจากเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากในละแวกนี้ ต่อมาเมื่อนักเรียนเยอะขึ้น ห้องเรียนไม่พอรองรับจึงได้มีการสร้างอาคารเรียนใหม่ หลังจากนั้น ศาลาเรียนวัดคูเต่าถูกปล่อยให้อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2551 – 2553 วัดคูเต่า สถาบันอาศรมศิลป์ และชุมชนได้ร่วมมือกันในการบูรณะศาลาหลังนี้จนกลับมามีความสวยงามดังเดิม

ศาลาเรียนวัดคูเต่า มีโครงสร้างหลักทั้งหมดเป็นไม้เคี่ยมซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งท้องถิ่น แต่ปัจจุบันเป็นไม้สงวนและ ใกล้จะสูญพันธุ์ ผังพื้นของศาลาเรียนเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดความกว้าง 6.50 เมตร และความยาว 11.50 เมตร เสาไม้ยกพื้นสูงวางบนตอม่อปูน คานโครงสร้างพื้นเชื่อมต่อกับเสาด้วยวิธีการเข้าเดือยไม้แบบโบราณ พื้นศาลาตีเว้นร่อง เพื่อระบายน้ำฝนลงสู่พื้นทรายด้านล่าง เป็นลักษณะการปลูกสร้างอาคารเพื่อระบายอากาศและแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำความเสียหายให้กับวัสดุไม้ บริเวณพื้นศาลานี้แบ่งเป็น 2 ระดับ ส่วนกลางยกขึ้นสูงกว่าระเบียงโดยรอบประมาณ 0.30 เมตร ซึ่งเป็นลักษณะของการปลูกสร้างศาลาธรรมของเรือนพื้นถิ่นภาคใต้ ส่วนหลังคาเป็นรูปทรงมะนิลา ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นบริเวณหน้าบัน ช่อฟ้าและหางหงส์ ซึ่งลวดลายปูนปั้นบริเวณหน้าบันนั้น นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบพม่าหรือมอญ ส่วนช่อฟ้าปูนปั้นเป็นรูปครุฑและหางหงส์ทำจากปูนหมักปูนตำที่ใช้เทคนิคเชิงช่างโบราณ สีของอาคารที่ปรากฏออกมาคือสีธรรมชาติของไม้ และสีส้มดินเผาที่มาจากกระเบื้องมุงหลังคาซึ่งทำมาจากโรงเผากระเบื้องที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับวัด และปัจจุบันโรงเผากระเบื้องนี้ก็ยังคงดำเนินกิจการอยู่

ศาลาเรียนวัดคูเต่าแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญของชาวบ้านจีนและ บ้านแม่ทอม ชุมชนสองฝั่งคลองวัดคูเต่า ส่งผลให้ชุมชนเกิดจิตสำนึกในการรักษามรดกวัฒนธรรมของตนเอง และเป็นตัวอย่าง ในการศึกษาเรียนรู้การปรับปรุงซ่อมแซมอาคารตามหลักวิชาการ

Wat Khu Tao Learning Pavilion

Location Wat Khu Tao, 1 Ban Hua Non Wat, Tambon Mae Tom, Amphoe Bang Klum, Songkhla Province

Proprietor Wat Ku Tao

Date of Construction Before 1916

Conservation Awarded 2011

History

Wat Khu Tao Learning Pavilion was original built as a temple pavilion. Later, the abbot, Luang Pho Hom Punnmano, had improved the pavilion to be a school of the sub-district. There were 2 classrooms consisting of 20-30 students in each room. At that time, it became a reputation school. After a number of students increased, the classrooms were not enough to support them so a new building was built. After that, it was deserted and ruined. Until 2008 -2010, the temple, Arsom Silp Institue of Arts and the community cooperated to restore the pavilion to return to its former beauty.

The main structure of the pavilion is made of hardwood called Mai Kiam, a reserved and endangeredlocal wood. The plan is in a rectangle pattern of 6.50 metres wide and 11.50 metres long. The high woodenplatform placed on concrete columns. The floor beams are connected to the columns by ancient traditional method. The wooden floor has 2 levels and the middle part is raised up 0.30 metres above the terrace, which is a typical local style of the South. The gable roof is covered with orange clay tiles. The gable is decorated with stucco in Burmese or Mon art style. The color of the building is the natural color of wood. The factory making the clay tiles of the roof is located near the temple and still in operation.

Wat Khu Tao Learning Pavilion presents to the determination to preserve the architectural heritage of the community. It has been a good example to study the techniques of the restoration that still maintains the beauty of the pavilion.