อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

อาคารคีตราชนครินทร์ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

อาคารคีตราชนครินทร์ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

ที่ตั้ง เลขที่ 2010 ถนนอรุณอมรินทร์ 36 แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร

สถาปนิก / ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อ

สถาปนิกผู้บูรณะ: ณัฐรฐนนท ์ทองสุทธิพีรภาส, บรรจงลักษณ์ กัณหาชาลี และกรมศิลปากร

ผู้ครอบครอง สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

ปีที่สร้าง สมัยรัชกาลที่ 5

ประวัติ

อาคารคีตราชนครินทร์เดิมเป็นส่วนหนึ่งของโรงงานสุราบางยี่ขัน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรีเมื่อแรกสร้างอาคารถูกใช้เป็นที่ทำงานของเจ้าพนักงานที่ไปควบคุมโรงงานสุราเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดเก็บภาษีและความต้องการของทางรัฐที่จะมีโรงงานสุราเป็นของตนเอง ต่อมาระหว่างพุทธศักราช 2503 – 2538 เอกชนได้เข้ามาบริหารจัดการโรงงานสุราบางยี่ขันและได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ต่อเติมอาคารตามการใช้งานจนทำให้ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเปลี่ยนไป หลังจากนั้นโรงงานสุราบางยี่ขันได้ย้ายออกไป อาคารหลังนี้จึงถูกทิ้งร้างนานหลายปี จนกระทั่งสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาได้เข้ามาปรับปรุงฟื้นฟูอาคารเพื่อใช้เป็นอาคารเรียนสำหรับการเรียนการสอนในหลักสูตรดุริยางศาสตร์บัณฑิต สำหรับการดำเนินการนั้นมีการจัดทำแผนอนุรักษ์ตามหลักวิชาการอย่างเคร่งครัด ทำการดีดยกอาคารขึ้นมาจากระดับเดิม 1.00 เมตร เพื่อให้มีระดับที่เสมอกับพื้นที่อื่นๆ และป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนการตกแต่งภายในเป็นแบบร่วมสมัยด้วยแนวคิด “จังหวะดนตรีคลาสสิกในท่วงทำนองแห่งความเป็นไทย” เพื่อตอบรับการใช้สอยใหม่และรักษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมเดิม

อาคารคีตราชนครินทร์เป็นอาคาร 2 ชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก โครงสร้างผนังรับน้ำหนัก ผังพื้นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแคบยาวแบบรูปตัวยู (U) ที่เน้นมุขปลายทั้งสองข้างโดยมีระเบียงทางเดินด้านหน้าเป็นตัวเชื่อม หลังคาจั่วมุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์รูปว่าว จุดเด่นของอาคาร คือ ด้านหน้าอาคารที่มีเสาระเบียงลอยตัวเรียงเป็นแถวจึงดูโปร่งโล่ง และมีการประดับด้วยปูนปั้นโดยรอบอาคาร พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างประกอบด้วยห้องทำงาน ร้านขายของที่ระลึก ห้องสมุด ร้านกาแฟ ห้องน้ำ ระเบียงทางเดิน และโถงบันได พื้นที่ใช้สอยชั้นบนประกอบด้วย ห้องเรียน 3 ห้อง ห้องประชุม ห้องนายกสภาสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ห้องเตรียมอาหาร ระเบียงภายนอก ห้องน้ำ และระเบียงทางเดิน

อาคารคีตราชนครินทร์แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาที่จะรักษาอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมด้วยการออกแบบให้มีประโยชน์ใช้สอยอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต สามารถเชื่อมดนตรี การศึกษา และชุมชนให้อยู่ร่วมกันได้ในบริบทใหม่ได้อย่างน่าชื่นชม