อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

อาคารที่หยุดรถไฟแม่พวก

อาคารที่หยุดรถไฟแม่พวก

ที่ตั้ง หมู่บ้านแม่พวก ตำบลห้วยไร่ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่

สถาปนิก / ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏหลักฐาน

ผู้ครอบครอง การรถไฟแห่งประเทศไทย

                    ดูแลโดย: ชาวบ้านแม่พวก

ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2462

ประวัติ

สถานีรถไฟแม่พวกสร้างขึ้นในพุทธศักราช 2454 โดยอาคารสถานีรถไฟแม่พวกเมื่อแรกสร้างเป็นอาคารไม้ชั่วคราว จนกระทั่งพุทธศักราช 2460 กรมรถไฟหลวงได้รื้ออาคารสถานีรถไฟชั่วคราวลงและเริ่มสร้างอาคารสถานีรถไฟแม่พวกหลังปัจจุบัน และมีการเปิดใช้อย่างเป็นทางการในพุทธศักราช 2462 หลังจากนั้นสถานีรถไฟแม่พวกได้รองรับการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าเรื่อยมา จนกระทั่งในพุทธศักราช 2511 มีการทำถนนเชื่อมระหว่างอำเภอเด่นชัยและอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และชาวบ้านเริ่มมีการใช้รถไฟในการเดินทางลดน้อยลง ทำให้รายได้ของสถานีรถไฟแม่พวกลดน้อยลงตามไปด้วย หลังจากนั้นในพุทธศักราช 2524 มีการขยายถนนเส้นนี้ทำให้การเดินทางไปยังที่ต่างๆ มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารที่สถานีรถไฟแม่พวกลดลงอย่างมาก ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2546 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ยุบสถานีรถไฟแม่พวกแล้วเปิดเป็นที่หยุดรถแทน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนลง ทำให้ไม่มีนายสถานีและพนักงานการรถไฟประจำ และไม่มีการใช้สอยพื้นที่ภายในอาคารสถานีรถไฟแม่พวกแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีการรื้อถอนบ้านพัก โรงชั่งของ และยกเลิกประแจทั้งหมดเหลือแต่ทางประธาน ต่อมาในพุทธศักราช 2549 องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยไร่ได้ทำสัญญาขออนุญาตการรถไฟแห่งประเทศไทยใช้อาคารที่หยุดรถไฟแม่พวกเป็นเวลา 5 ปี เพื่อทำเป็นสำนักงานชมรมกีฬา ดนตรี และที่ทำการสาธารณสุขพื้นฐาน นอกจากนี้ยังได้สร้างห้องสุขาและสนามฟุตบอลเล็กจำนวน 2 สนาม บริเวณด้านหน้าอาคารอีกด้วย หลังจากหมดสัญญาแล้วก็ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์แต่อย่างใด ยกเว้นบริเวณส่วนโถงพักคอยที่ชาวบ้านยังคงใช้ในการรอรถไฟซึ่งมีขบวนรถหยุดรับส่ง 2 ขบวนต่อวัน ต่อมาระหว่างวันที่ 1 – 8 มิถุนายน พุทธศักราช 2557 อาจารย์ และนักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรมจากหลายมหาวิทยาลัยได้ร่วมกันสำรวจสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่น (Vernacular Documentation) ของอาคารที่หยุดรถไฟแม่พวกโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการทำงานจากผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านแม่พวก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการปรับปรุงฟื้นฟูแบบมีส่วนร่วมจนถึงปัจจุบัน

อาคารที่หยุดรถไฟแม่พวก มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบผสมผสานรูปแบบจากตะวันตก ตัวอาคารวางขนานไปกับทางรถไฟในแนวเหนือใต้ ผังพื้นอาคารเป็นรูปตัวเอช (H) ประกอบด้วยอาคารไม้ 2 ชั้น จำนวน 2 หลัง ระหว่างกลางของอาคาร 2 หลังนี้เชื่อมต่อกันด้วยโถงพักคอยชั้นเดียว และส่วนชานชาลาคอนกรีตเสริมเหล็กไม่มีหลังคาคลุม โครงสร้างอาคารทั้งหมดเป็นไม้ตั้งอยู่บนฐานรากคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นและผนังอาคารเป็นไม้ หลังคาปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านแม่พวก ส่วนพื้นที่ใช้สอยชั้นบนเป็นห้องนอนสำหรับผู้ดูแลอาคารและห้องเก็บของ

อาคารที่หยุดรถไฟแม่พวกแสดงให้เห็นถึงความพยายามและตั้งใจของชาวบ้านแม่พวกและเครือข่ายในการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้สามารถรักษาคุณค่าความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมเอาไว้ได้ และเป็นต้นแบบของการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยภาคประชาชนที่น่ายกย่อง